ชื่อผลงาน : รายงานผลการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการ 3 กิจกรรมหลัก เพื่อพัฒนา
ความสามารถด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1
(อายุ 4-5 ปี)
ผู้วิจัย : นางสาวอัญชิษฐา จุดาบุตร
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านตะโนน สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลแจนแวน
อำเภอศรีณรงค์ จังหวัดสุรินทร์
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการพัฒนาความสามารถด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 (4-5 ปี) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านตะโนน โดยให้นักเรียนจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ได้คะแนนตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไป กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชาย-หญิง ที่มีอายุระหว่าง 4-5 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านตะโนน สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลแจนแวน อำเภอศรีณรงค์ จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 16 คน ระยะเวลาที่วิจัย คือ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 แบ่งเป็น 3 หน่วยการเรียนรู้ ระหว่างวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 ถึง 23 พฤศจิกายน 2561 วันละ 60 นาที เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แผนการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการ 3 กิจกรรมหลัก ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีมี่ 1 (อายุ 4-5 ปี) จำนวน 15 แผน แบบทดสอบวัดความสามารถด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ของนักเรียนชั้นอนุบาล ปีที่ 1 (อายุ 4-5 ปี) จำนวน 6 ข้อ ได้ดำเนินการวิจัยโดยใช้แบบแผนการวิจัยรูปแบบ One shot case study สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สรุปผลการวิจัย ดังนี้
1. ผลการทดสอบวัดความสามารถด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ หลังการใช้แผนการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการ 3 กิจกรรมหลัก นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 (อายุ 4-5 ปี) มีนักเรียนผ่านเกณฑ์ร้อยละ 86.67 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด และมีคะแนนทดสอบความสามารถด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เฉลี่ยร้อยละ 86.11 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2. ผลการทดสอบวัดความสามารถด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ หลังการใช้แผนการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการ 3 กิจกรรมหลัก นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 (อายุ 4-5 ปี) มีคะแนนความสามารถด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เมื่อจำแนกเป็นรายด้าน ดังนี้ ด้านความอ่อนตัวของกล้ามเนื้อและต้นขาหลัง มีคะแนนเฉลี่ย 4.20 คิดเป็นร้อยละ 84.00 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.66 ด้านความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขน มีคะแนนเฉลี่ย 4.17 คิดเป็นร้อยละ 83.33 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.65 ด้านความเร็ว มีคะแนนเฉลี่ย 4.43 คิดเป็นร้อยละ 88.67 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.63 ด้านความแข็งแรงและกำลังของกล้ามเนื้อขา มีคะแนนเฉลี่ย 4.27 คิดเป็น ร้อยละ 85.33 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.64 ด้านความแข็งแรงและและความอดทนของกล้ามเนื้อท้อง มีคะแนนเฉลี่ย 4.37 คิดเป็นร้อยละ 87.33 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.67 และด้านความคล่องแคล่วว่องไวและความสามารถในการทรงตัว มีคะแนนเฉลี่ย 4.40 คิดเป็นร้อยละ 88.00 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.62