ชื่อเรื่อง การพัฒนาชุดกิจกรรม เรื่อง การสืบพันธุ์ของพืชดอกและการเจริญเติบโต วิชาชีววิทยา 3
ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล 3 เทศบาลอนุสรณ์
ผู้วิจัย นางสาวปิยะมาศ ปรากฏมาก
ตำแหน่ง ครูชำนาญการพิเศษ
สังกัด โรงเรียนเทศบาล 3 เทศบาลอนุสรณ์ อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
สังกัดเทศบาลเมืองสุรินทร์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ปีที่พิมพ์ 2561
การพัฒนาชุดกิจกรรม เรื่อง การสืบพันธุ์ของพืชดอกและการเจริญเติบโต วิชาชีววิทยา 3 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล 3 เทศบาลอนุสรณ์ มีจุดมุ่งหมายของการวิจัย 4 ประการ คือ คือ 1) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรม เรื่อง การสืบพันธุ์ของพืชดอกและ การเจริญเติบโต วิชาชีววิทยา 3 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล 3 เทศบาลอนุสรณ์ ตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังการเรียน โดยใช้ชุดกิจกรรม เรื่อง การสืบพันธุ์ของพืชดอกและการเจริญเติบโต วิชาชีววิทยา 3 ของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล 3 เทศบาลอนุสรณ์ 3) เพื่อศึกษาค่าดัชนีประสิทธิผล จากการใช้ชุดกิจกรรม เรื่อง การสืบพันธุ์ของพืชดอกและการเจริญเติบโต วิชาชีววิทยา 3 ของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล 3 เทศบาลอนุสรณ์ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียน ที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรม เรื่อง การสืบพันธุ์ของพืชดอกและการเจริญเติบโต วิชาชีววิทยา 3 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล 3 เทศบาลอนุสรณ์
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้สอนเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนเทศบาล 3 เทศบาลอนุสรณ์ จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 40 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ใช้เวลาในการทดลอง 18 ชั่วโมง (ไม่รวมเวลา ที่ใช้ในการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน) เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ ชุดกิจกรรม เรื่อง การสืบพันธุ์ของพืชดอกและการเจริญเติบโตสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 10 ชุด แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 1 ฉบับ 40 ข้อ ซึ่งมีค่าความยากตั้งแต่ 0.48 ถึง 0.80 ค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.23 ถึง 0.77 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.8054 และแบบสอบถามความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรม จำนวน 15 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.9320 สถิติที่ใช้ ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติที่ใช้วิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนที่เรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมโดยใช้สูตร t-test (Dependent Sample)
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ผลการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของชุดกิจกรรม เรื่อง การสืบพันธุ์ของพืชดอกและ การเจริญเติบโต ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล 3 เทศบาลอนุสรณ์ โดยใช้ ชุดกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 พบว่า นักเรียนมีคะแนนจากการปฏิบัติกิจกรรมโดยรวม มีค่าเฉลี่ย 362.45 คะแนน จากคะแนนเต็ม 435 (x̄ =362.45 , S.D.=16.21) คิดเป็นร้อยละ 83.32 สำหรับคะแนนทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หลังเรียนโดยรวม มีค่าเฉลี่ย 32.57 จากคะแนนเต็ม 40 คะแนน ( x̄=32.57 , S.D.=2.53) คิดเป็นร้อยละ 81.43 แสดงว่าชุดกิจกรรม มีประสิทธิภาพ 83.32/81.43 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ซึ่งชุดกิจกรรม แต่ละชุดมีประสิทธิภาพ ดังนี้ ชุดกิจกรรมที่ 1 เรื่อง วัฏจักรชีวิตของพืช มีประสิทธิภาพ 83.71/82.38 ชุดกิจกรรมที่ 2 เรื่อง โครงสร้างและหน้าที่ของดอก มีประสิทธิภาพ 81.27/81.67 ชุดกิจกรรมที่ 3 เรื่อง ประเภทของดอก มีประสิทธิภาพ 83.39/82.14 ชุดกิจกรรมที่ 4 เรื่อง การสร้างเซลล์สืบพันธุ์ของพืชดอก มีประสิทธิภาพ 82.57/84.29 ชุดกิจกรรมที่ 5 เรื่อง การถ่ายเรณู และการปฏิสนธิของพืชดอก มีประสิทธิภาพ 84.64/85.00 ชุดกิจกรรมที่ 6 เรื่อง ผลและการเกิดผล มีประสิทธิภาพ 82.24/85.00 ชุดกิจกรรมที่ 7 เรื่อง เมล็ดและโครงสร้างของเมล็ด มีประสิทธิภาพ 82.65/84.05 ชุดกิจกรรมที่ 8 เรื่อง การงอกของเมล็ด มีประสิทธิภาพ 84.19/84.52 ชุดกิจกรรมที่ 9 เรื่อง การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศของพืชดอกและการขยายพันธุ์พืช มีประสิทธิภาพ 82.70/85.24 ชุดกิจกรรมที่ 10 เรื่อง การวัดการเจริญเติบโตของพืชดอก มีประสิทธิภาพ 83.33/85.24
2. ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรม เรื่อง การสืบพันธุ์ของพืชดอกและการเจริญเติบโต วิชาชีววิทยา 3 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล 3 เทศบาลอนุสรณ์ พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และคะแนนทดสอบหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ทุกชุด
3. ผลการศึกษาดัชนีประสิทธิผลของชุดกิจกรรม เรื่อง การสืบพันธุ์ของพืชดอกและ การเจริญเติบโต มีค่าเท่ากับ 0.7099 แสดงว่านักเรียนมีความก้าวหน้าทางการเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 70.99แสดงให้เห็นถึงนักเรียนมีผลการเรียนรู้ เรื่อง การสืบพันธุ์ของพืชดอกและการเจริญเติบโตที่สูงขึ้นจริง
4. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรม โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.33 (x̄ =4.33 , S.D. = 0.63) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากทุกข้อ แสดงว่าการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้ชุดกิจกรรม เรื่อง การสืบพันธุ์ของพืชดอกและการเจริญเติบโต ที่ผู้วิจัยศึกษาค้นคว้าพัฒนาขึ้น มีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนอยู่ในระดับมาก