บทคัดย่อ
รายงานการพัฒนาแบบฝึกทักษะ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วนและทศนิยม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 วัตถุประสงค์วิจัย ได้แก่ 1)เพื่อพัฒนาแบบฝึกทักษะกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วนและทศนิยมชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 75/75 2)เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ระหว่างก่อนและหลังเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วนและทศนิยม 3)เพื่อหาค่าดัชนีประสิทธิผลของแบบฝึกทักษะ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วนและทศนิยม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 4)เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา
ปีที่ 2 ที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้แบบฝึกทักษะกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วนและทศนิยม กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/2 โรงเรียนห้วยข่าพิทยาคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ภาคเรียนที่ 2 ปีการวิจัย 2563 จำนวน 27 คน
ได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) ใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยสุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ 1)แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 10 แผน ค่าความเหมาะสมเท่ากับ 4.82 2)แบบฝึกทักษะ จำนวน 10 เล่ม ค่าความเหมาะสมเท่ากับ 4.71 3)แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 40 ข้อ ค่า IOC โดยรวมเท่ากับ 0.85 ค่าอำนาจจำแนกอยู่ระหว่าง 0.20-0.80 ค่าความยากง่ายอยู่ระหว่าง 0.20-0.80 ค่าอำนาจจำแนกทั้งฉบับเท่ากับ 0.8607 4)แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน จำนวน 19 ข้อ ค่าความเหมาะสมเท่ากับ 4.63 ค่าอำนาจจำแนกอยู่ระหว่าง 0.20-0.80 ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.9042 เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการใช้แบบแผนการทดลองแบบ One Group Pre-test Post-test Design ได้แก่ ทดสอบก่อนเรียน (Pre-test) ทำการสอนตามแผนที่ออกแบบไว้ ทดสอบย่อยระหว่างเรียนและทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน (Post-test) ใช้แบบสอบถามให้นักเรียนตอบแบบสอบถามความพึงพอใจ หลังเรียนจบ เรื่อง เศษส่วนและทศนิยม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ IOC วิเคราะห์ค่าความสอดคล้องของแบบทดสอบ หาค่าอำนาจจำแนก (B) ค่าความยากง่าย (p) ของแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ใช้สถิติของแบรนแนน (Brennan) หาค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้งฉบับ (rcc) ใช้สถิติของโลเวท (Lovett) หาค่าอำนาจจำแนกแบบสอบถามความพึงพอใจเป็นรายข้อ โดยใช้วิธีItemtotal Correlation ใช้สูตรสหสัมพันธ์อย่างง่ายของ Pearson หาค่าความเชื่อมั่นแบบสอบถามความพึงพอใจทั้งฉบับ โดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟา (Alpha Coefficient) ของครอนบาค (Cronbach) ใช้สถิติ E1/ E2 วิเคราะห์ค่าประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะ ใช้สถิติ t-test ทดสอบสมมติฐานการเปรียบเทียบคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียน และทดสอบสมมติฐานการเปรียบเทียบความพึงพอใจของนักเรียนระหว่างก่อนและหลังเรียน ใช้สถิติ E.I. วิเคราะห์ดัชนีประสิทธิผลของแบบฝึกทักษะ และใช้สถิติพื้นฐานวิเคราะห์ค่าเฉลี่ย (X-bar) ร้อยละ (P) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ผลการศึกษาพบว่า
1. ประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วนและทศนิยม มีค่าเท่ากับ 78.19/75.09 สูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งเอาไว้
2. การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างคะแนนก่อนและหลังเรียน พบว่า คะแนนทดสอบนักเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้
3. ดัชนีประสิทธิผลของแบบฝึกทักษะกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วนและทศนิยม มีค่าเท่ากับ 0.5647 คิดเป็นร้อยละ 56.47 หมายความว่า แบบฝึกทักษะชุดนี้ทำให้ผลการเรียนของนักเรียนมีความก้าวหน้าในการเรียนเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 56.47 สูงกว่าเกณฑ์ที่ยอมรับได้
4. โดยรวมความพึงพอใจของนักเรียนชายและนักเรียนหญิงมีค่าอยู่ในระดับมาก
(X-bar =4.36) โดยนักเรียนหญิงมีความพึงพอใจค่าเฉลี่ยสูงกว่านักเรียนชาย และโดยรวมความพึงพอใจของนักเรียน ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนมีค่าอยู่ในระดับปานกลาง (X-bar =3.09) โดยนักเรียนชายมีความพึงพอใจค่าเฉลี่ยสูงกว่านักเรียนหญิง และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างค่าเฉลี่ยความพึงพอใจก่อนและหลังเรียน พบว่า ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจหลังเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้