รายงานผลการจัดกิจกรรมการเล่นสร้างประกอบการวาดภาพโดยใช้วัสดุเหลือใช้ที่มีต่อ ทักษะความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย
THE EFFECTS OF CONSTRUCTIVE PLAY ACTIVITY PROVISION WITH DRAWING BY UTLIZING REUSED MATERIALS ON CREATIVE THINKING SKILLSOF YOUNG CHILDREN
นางสาวอุษามณี จันทร์มีอ้น
ตำแหน่ง ครู คศ. ๑
โรงเรียนอนุบาลบ้านบึง(อำนาจคณูปถัมภ์)
สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต ๑
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
กระทรวงศึกษาธิการ
ชื่อผลงาน : ผลการจัดกิจกรรมการเล่นสร้างประกอบการวาดภาพโดยใช้วัสดุเหลือใช้ที่มีต่อทักษะความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย
ชื่อผู้นำเสนอผลงาน : นางสาวอุษามณี จันทร์มีอ้น
ปีการศึกษา : ๒๕๖๒
บทคัดย่อ
ผลการจัดกิจกรรมการเล่นสร้างประกอบการวาดภาพโดยใช้วัสดุเหลือใช้ที่มีต่อทักษะความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ เด็กปฐมวัยที่มีอายุระหว่าง ๔ ๕ ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นอนุบาลปีที่ ๒ ภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๖๒ จำนวน ๒๗ คน โรงเรียนอนุบาลบ้านบึง(อำนาจคณูปถัมภ์) สังกัด สำนักงานการศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต ๑ เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ แผนการจัดกิจกรรมการเล่นสร้างประกอบการวาดภาพโดยใช้วัสดุเหลือใช้ที่มีต่อทักษะความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย จำนวน ๑๖ แผน แบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์โดยอาศัยรูปภาพเป็นสื่อแบบก แปลโดยอารี รังสินันท์ (Torrance Test of Creative Thinking Figural Form A) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา
ผลการจัดกิจกรรม พบว่า เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเล่นสร้างประกอบการวาดภาพโดยใช้วัสดุเหลือใช้ที่มีต่อทักษะความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย มีคะแนนทักษะความคิดสร้างสรรค์หลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลอง ทั้งโดยรวมและรายด้าน
วัตถุประสงค์
๕.๑ เพื่อศึกษาผลการจัดกิจกรรมการเล่นสร้างประกอบการวาดภาพโดยใช้วัสดุเหลือใช้ที่มีต่อทักษะความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย
๕.๒ เพื่อเปรียบเทียบผลการประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย ก่อนและหลังการจัดกิจกรรมการเล่นสร้างประกอบการวาดภาพโดยใช้วัสดุเหลือใช้
วิธีการศึกษา
๑. กลุ่มเป้าหมาย
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ เด็กปฐมวัยชาย-หญิง อายุระหว่าง ๔-๕ปี ที่กําลังศึกษาอยู่ระดับชั้นอนุบาลปีที่ ๒ ในภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๖๒ โรงเรียนอนุบาลบ้านบึง(อำนาจคณูปถัมภ์) จำนวน ๒๗ คนโดยใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling)
๒. เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา
ในการศึกษาครั้งนี้ มีเครื่องมือที่ใช้ในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย
๒.๑ แผนการจัดกิจกรรมการเล่นสร้างจากวัสดุเหลือใช้ จำนวน ๑๖ แผน
๒.๒ แบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์โดยอาศัยรูปภาพเป็นสื่อแบบ ก แปลโดยอารี รังสินันท์ (Torrance Test of Creative Thinking Figural Form A)
๓. การสร้างเครื่องมือในการศึกษา
แผนการจัดกิจกรรมละครสร้างสรรค์ เป็นแผนที่ผู้ศึกษาได้สร้างขึ้นมาเอง โดยมีขั้นตอน การสร้างดังนี้
การสร้างแผนการจัดกิจกรรมการเล่นสร้างประกอบการวาดภาพโดยใช้วัสดุเหลือใช้ที่มีต่อทักษะความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
๓.๑ ศึกษาคู่มือหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยพุทธศักราช ๒๕๖๐ ของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเป็นแนวทางการจัดประสบการณ์และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการคิดสร้างสรรค์
๓.๒ นำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาหลักสูตรและเอกสารที่เกี่ยวข้อง มาวางแผนการจัดกิจกรรมการเล่นสร้างประกอบการวาดภาพโดยใช้วัสดุเหลือใช้ที่มีต่อทักษะความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย รวมทั้งหมด ๑๖ แผน ในแต่ละกิจกรรมเด็กได้ใช้ทักษะความคิดสร้างสรรค์ โดยใช้วัสดุเหลือใช้
๓.๓ เขียนแผนการจัดกิจกรรมการเล่นสร้างประกอบการวาดภาพโดยใช้วัสดุเหลือใช้ที่มีต่อทักษะความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย จํานวน ๑๖ แผน ประกอบด้วย จุดประสงค์การเรียนรู้ สาระการเรียนรู้ ขั้นตอนการจัดกิจกรรม วัสดุอุปกรณ์ สื่อการสอน และการประเมินผล
ขั้นนํา ครูนําเด็กเข้าสู่กิจกรรมโดยใช้เพลง คําคล้องจอง นิทาน หรือปริศนาคําทาย และร่วมสนทนากับเด็ก
ขั้นสอน ครูแนะนำชื่อกิจกรรม โดยแนะนำวัสดุที่ใช้ในการทำกิจกรรม และกำหนดเวลาในการทำกิจกรรมจากนั้นให้เด็กออกแบบวางแผน โดยการวาดภาพประกอบสิ่งที่เด็กสนใจ แลเปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริง ให้เด็กสร้างชิ้นงานจากที่ได้ออกแบบไว้แล้ว โดยวิธีการสร้าง และต่อเติมจากจินตนาการของตนเองให้เสร็จทันเวลาทีกําหนด
ขั้นสรุป เด็กเล่าถึงผลงานของตนเอง สนทนาถึงความแตกต่างของแต่ละชิ้นงาน จากการออกแบบการลงมือปฏิบัติจริง โดยการวาดภาพประกอบว่าสามารถปฏิบัติได้ตามที่วางแผนหรือไม่ อย่างไร
๓.๔ นำแผนการจัดกิจกรรมการเล่นสร้างประกอบการวาดภาพโดยใช้วัสดุเหลือใช้ที่มีต่อทักษะความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัยที่ได้ปรับปรุงเรียบร้อยแล้วไปใช้กับกลุ่มเป้าหมาย
ผลการจัดกิจกรรม
เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเล่นสร้างประกอบการวาดภาพโดยใช้วัสดุเหลือใช้ที่มีต่อทักษะความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย มีคะแนนทักษะความคิดสร้างสรรค์ หลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลอง ดังนี้ คะแนนเฉลี่ยทักษะความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัยโดยรวมก่อนการทดลองเท่ากับ ๑๑.๑๑ และคะแนนเฉลี่ยทักษะความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัยหลังการทดลองเท่ากับ ๑๘.๘๙ ซึ่งสูงกว่าก่อนการทดลอง และเมื่อแยกเป็นรายด้านพบว่าด้านความคิดริเริ่มคะแนนเฉลี่ยก่อนการทดลองเท่ากับ ๓.๒๒ หลังการทดลองเท่ากับ ๖.๙๒ ด้านความคิดละเอียดลออ ก่อนการทดลองเท่ากับ ๓.๓๓ หลังการทดลองเท่ากับ ๕.๐๗ ด้านความคิดคล่องแคล่ว ก่อนการทดลองเท่ากับ ๔.๕๖ หลังการทดลองเท่ากับ ๖.๘๕
ข้อเสนอแนะ
จากการจัดกิจกรรมการเล่นสร้างประกอบการวาดภาพโดยใช้วัสดุเหลือใช้ที่มีต่อทักษะความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัยไปใช้ มีข้อเสนอแนะ ดังนี้
๑. ครูควรใช้คำถามในการกระตุ้นขณะทำกิจกรรม การให้แรงเสริม เช่นคำชม เพื่อให้เด็กเกิดความมั่นใจและภูมิในผลงานของตนเองกล้าพูดและนำเสนอผลงานของตนเองได้มากยิ่งขึ้น
๒. ครูควรทําข้อตกลงก่อนการทํากิจกรรมการเล่นสร้างประกอบการวาดภาพจากวัสดุเหลือใช้ทุกครั้ง อาจใช้คําถามระหว่างการทํากิจกรรมว่า ถ้าครูมีอุปกรณ์แบบนี้ เด็กๆ จะทําอย่างไรให้อุปกรณ์ทีมีเกิดลักษณะหรือรูปร่างใหม่ๆ
๓. ในการเก็บรวบรวมข้อมูลควรมีการบันทึกวีดิทัศน์ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ให้ ความชัดเจนมากขึ้น และยังสามารถเก็บไว้เป็นข้อมูลในการศึกษาข้อมูลต่อไป