ชื่อเรื่อง ผลการใช้หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพ หน่วยการเรียนรู้เรื่อง แหล่งท่องเที่ยว
บ้านฉัน เพื่อพัฒนาความสามารถทางภาษาด้านการฟังและการพูดของเด็กปฐมวัย
ชั้นเด็กเล็ก (อายุ 4 ขวบ) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดศรีสว่างอารมณ์ สังกัด
กองการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนตำบลชัยพร อำเภอเมือง
บึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ
ผู้ศึกษา นางขนิษฐา ไชยเนตร
ปีที่พิมพ์ 2563
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาประสิทธิภาพของหนังสือคำคล้องจองประกอบภาพ หน่วยการเรียนรู้เรื่อง แหล่งท่องเที่ยวบ้านฉัน ที่สร้างขึ้นตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 และเพื่อเปรียบเทียบความสามารถทางภาษาด้านการฟังและการพูดของเด็กปฐมวัย ชั้นเด็กเล็ก (อายุ 4 ขวบ) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดศรีสว่างอารมณ์ ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์โดยใช้หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพ หน่วยการเรียนรู้เรื่อง แหล่งท่องเที่ยวบ้านฉัน กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ได้แก่ เด็กปฐมวัย ชั้นเด็กเล็ก (อายุ 4 ขวบ) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดศรีสว่างอารมณ์ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 19 คน การศึกษาครั้งนี้ใช้รูปแบบการศึกษาแบบกลุ่มเดียวทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพ และแผนการจัดประสบการณ์ประกอบการใช้หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพเพื่อพัฒนาความสามารถทางภาษาด้านการฟังและการพูด จำนวน 36 แผน แบบประเมินความสามารถทางภาษาด้านการฟังและ
การพูด และแบบทดสอบวัดความสามารถทางภาษาด้านการฟังและการพูด วิเคราะห์ข้อมูลโดย
การทดสอบค่าที (t test) ชนิดกลุ่มตัวอย่างไม่เป็นอิสระต่อกัน (Dependent Samples)
ผลการศึกษาพบว่า
1. หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพ เพื่อพัฒนาความสามารถทางภาษาด้านการฟังและการพูดของเด็กปฐมวัย ชั้นเด็กเล็ก (อายุ 4 ขวบ) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดศรีสว่างอารมณ์
ที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 กล่าวคือหนังสือคำคล้องจองประกอบภาพมีประสิทธิภาพ 89.55/85.18
2. เด็กปฐมวัย ชั้นเด็กเล็ก (อายุ 4 ขวบ) ที่ได้รับการจัดประสบการณ์โดยใช้หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพหลังการจัดประสบการณ์มีความสามารถทางภาษาด้านการฟังและการพูดแตกต่างจากก่อนการจัดประสบการณ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ซึ่งเด็กปฐมวัย ที่ได้รับการจัดประสบการณ์โดยใช้หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพหลังการจัดประสบการณ์มีคะแนนเฉลี่ยของความสามารถทางการฟังและการพูดสูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์