ผู้วิจัย : นายนเรศ อภัยลุน
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ โรงเรียนเทศบาลตำบลงิม(คือเวียงจ่ำ)
สังกัดกองการศึกษา เทศบาลตำบลงิม
ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาการดำเนินงานและปัญหาการบริหารสถานศึกษาระดับปฐมวัยโรงเรียนเทศบาลตำบลงิม(คือเวียงจ่ำ) อำเภอปง จังหวัดพะเยา 2. เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาระดับปฐมวัยโรงเรียนเทศบาลตำบลงิม(คือเวียงจ่ำ) อำเภอปง จังหวัดพะเยา 3. เพื่อประเมินผลกระทบจากการบริหารงานโดยใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษาระดับปฐมวัยที่พัฒนาขึ้น ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ 1) ประชากรที่ใช้ในการตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับความคิดเห็นสภาพดำเนินงานและปัญหาในการบริหารงานการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยของสถานศึกษา ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา 1 คน
ครูผู้สอนปฐมวัย 7 คน คณะกรรมการสถานศึกษาปฐมวัยจำนวน 14 คน ผู้ปกครองนักเรียนปฐมวัย 128 คน รวม 150 คน 2) ประชากรที่ใช้ในการประชุมกลุ่ม เพื่อหาแนวทางในการบริหารงานการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยของสถานศึกษา ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา 1 คน
ครูผู้สอนปฐมวัย 7 คน คณะกรรมการสถานศึกษาปฐมวัย จำนวน 14 คน ตัวแทนผู้ปกครองนักเรียนปฐมวัย 10 คน คณะกรรมการผู้สูงอายุโฮงเฮียนสร้างสุขเทศบาลตำบลงิม 17 คน
ครูการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย 1 คน ผู้รับผิดชอบงานส่งเสริมสุขภาพสำนักงานสาธารณสุขอำเภอปง 1 คน และผู้รับผิดชอบงานส่งเสริมสุขภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 1 คน รวม 52 คน ได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมครั้งนี้ ประกอบด้วย แบบสอบถามและแบบดำเนินการประชุมกลุ่ม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพการดำเนินงานและปัญหาการบริหารสถานศึกษาระดับปฐมวัยโรงเรียนเทศบาลตำบลงิม (คือเวียงจ่ำ) อำเภอปง จังหวัดพะเยา ในภาพรวมมีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับปานกลาง เรียงค่าเฉลี่ยมากไปหาน้อย 3 ลำดับแรก ดังนี้ ด้านการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ด้านการจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ และด้านความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับครอบครัวของเด็ก
2. แนวทางการพัฒนาการบริหาร สถานศึกษาระดับปฐมวัยโรงเรียนเทศบาลตำบลงิม (คือเวียงจ่ำ) อำเภอปง จังหวัดพะเยา ด้วยรูปแบบ คือเวียงจ่ำ HEALTH Model (Kuewingjam HEALTH Model)ได้แก่ 1) H=Healthy หมายถึง เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการของด้านร่างกาย อารมณ์ วินัย จิตใจ สติปัญญาสมวัย ดำเนินการขับเคลื่อนผ่านโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ส่งผลให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการสมวัย ได้แก่ โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชรระดับประเทศ, โครงการอาหารกลางวัน/กิจกรรมตรวจก่อนทำ, กิจกรรมคัดกรอง 3 ชั้น ก่อนขึ้นรถรับส่ง /หน้าโรงเรียน/ในห้องเรียน, เฝ้าระวังภาวะโภชนาการชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูง/หมอตรวจสุขภาพ/ดูแลสุขภาพช่องปาก, การว่ายน้ำเสริมสร้างทักษะการเอาตัวรอดจากการจมน้ำ, โครงการหนูน้อยกลองสะบัด, นวัตกรรม Wood Songs เป็นกิจกรรม นวัตกรรมขยับกาย ขยายสมอง เพื่อเตรียมความพร้อมในการเรียนให้กับนักเรียน สร้างสมาธิให้นักเรียนตื่นตัว พร้อมรับการเรียนรู้ต่างๆ, หนูน้อยตาวิเศษ/เรียนรู้การคัดแยกขยะ, กิจกรรมดาวเด็กดี, กิจกรรมอารมณ์หนูวันนี้, กิจกรรมสวดมนต์ก่อนนอนตอนกลางวัน, โครงการอุ้ยสอนหลานการประดิษฐ์ของเล่นจากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น,กิจกรรมคัดแยกขยะโฮงเฮียนสร้างสุข,ดื่มนมแล้วล้างถุงนม, โครงการจัดทำแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยในสถานศึกษา,โครงการลูกเสือน้อยปฐมวัย 2) E = Environment หมายถึง การมีสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย 2.1) สภาพแวดล้อมภายในห้องเรียน ส่งผลให้เด็กปฐมวัยมีสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียนเอื้อต่อการเรียนรู้ ได้แก่ โครงการห้องเรียนสวย สะอาด บรรยากาศวิชาการ, จัดมุมต่างๆให้เด็กได้เรียนรู้, โครงการผลิตสื่อเพื่อใช้ในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ เป็นต้น 2.2) สภาพแวดล้อมภายนอกห้องเรียน ส่งผลให้เด็กปฐมวัยได้เรียนรู้รอบด้านหลากหลาย ได้แก่ สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ฐานการเรียนรู้คัดแยกขยะ ฝายชะลอน้ำเล่นตามรอยเท้าพ่อ, แหล่งเรียนรู้โฮงฮอมพญ๋า, แหล่งเรียนรู้สวนเศรษฐกิจพอเพียง/ปลูกผัก, พื้นที่สีเขียวให้เด็กได้ทำกิจกรรมนอกห้องเรียน, แหล่งเรียนรู้สวนสัตว์จำลอง เป็นต้น 3) A = Attitude หมายถึง เด็กปฐมวัยมีทัศนคติที่ดีมีวินัย คุณธรรม เป็นคนดี คนเก่ง เหมาะสมตามวัย มีกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยมีวินัย คุณธรรมจริยธรรม เป็นคนดี คนเก่ง มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ เช่น โครงการวันสำคัญทางศาสนา, กิจกรรมสวดมนต์นั่งสมาธิทุกวันพระ, กิจกรรมสวดมนต์นั่งสมาธิทุกวันพระ, กิจกรรมออมเงินโรงเรียนธนาคาร, การตักอาหารและการใช้สัญลักษณ์มือรู้จักความพอประมาณ, กิจกรรมการเดินแถว, การจัดวางรองเท้า, กิจกรรมการไหว้ผู้ใหญ่ขอบคุณพนักงานขับรถ เป็นต้น 4) L = Learn หมายถึง การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดการศึกษาที่หลากหลาย โดยยึดเด็กเป็นสำคัญ จัดกิจกรรมโดยยึดเด็กเป็นสำคัญ คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลเพื่อพัฒนาเด็กให้เต็มตามศักยภาพ ได้แก่ กิจกรรมการจัดประสบการณ์แบบโครงงาน เด็กได้สังเกต ทดลอง แก้ปัญหา, กิจกรรม Cooking เด็กได้สังเกต ทดลอง แก้ปัญหา ลงมือปฏิบัติจากของจริง, กิจกรรมเรียนคอมพิวเตอร์, กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก/ปั้นดินน้ำมัน,เรียนรู้ผ่านโครงการลูกเสือน้อยปฐมวัย, เรียนรู้ผ่านกิจกรรมว่ายน้ำ , กิจกรรมโตไปไม่โกง, เด็กเรียนรู้ผ่านกิจกรรมการเล่น, เด็กเรียนดนตรีพัฒนาอารมณ์จิตใจด้านสุนทรียภาพ, ศิลปะสร้างสรรค์/ประดิษฐ์ของเล่นของใช้, อนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น/ประดิษฐ์กระทงจากใบตอง/ปลูกต้นไม้ เป็นต้น 5) T=Team หมายถึง การทํางานร่วม 4 ภาคีเครือข่าย (ท้องที่ ท้องถิ่น ผู้ปกครอง ชุมชน หน่วยงานอื่นมีการบริหารงานผ่านคณะกรรมการสถานศึกษา/ประชุมผู้ปกครอง ได้แก่ โครงการสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาโดยจิตอาสา, กิจกรรมหุ่นเงาสัญจร โดย กศน., กิจกรรมผลิตสื่อประกอบการเล่านิทานโดยผู้ปกครอง, กิจกรรมกำจัดลูกน้ำยุงลายภายในโรงเรียนโดยจิตอาสา, กิจกรรม Big Cleaning Day เป็นต้น 6) H=Honest หมายถึง ความไว้วางใจความเชื่อถือของผู้ปกครองต่อการบริหารจัดการในโรงเรียนที่บุคลากรทางการศึกษามีความชื่อสัตย์ ซื่อตรง ให้บริการทุกคนเท่าเทียมกันไม่ลำเอียงหรือมีอคติมีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารและข้อมูลย้อนกลับ (Feed back) อย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ บันทึกข้อตกลงการปฏิบัติราชการที่ยึดเด็กเป็นสำคัญ, ภาพประกอบการพัฒนาครูอบรม/สัมมนาต่างๆ, ข้อมูลข่าวสารจากกลุ่มไลน์ในห้องเรียน, การนำปัญหาของผู้ปกครองมาแก้ไขเช่นกิจกรรมเยี่ยมบ้าน,มีหน่วยงานองค์กรอื่นเข้ามาศึกษาดูงาน, หนังสือรับรองจากสำนักงานรับรองมาตรฐาน โดยผู้มีส่วนร่วมมีความพึงพอใจต่อรูปแบบที่พัฒนาขึ้นในระดับมากที่สุด
3. ผลกระทบจากการบริหารงานโดยใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษา มีผลกระทบทางสุขภาพของนักเรียน ตามคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ประกอบด้วย การมีสุขภาพดี (ดี) การดูแลสุขภาพ (เก่ง) และการมีความสุข (สุข) ความคิดเห็นโดยรวม อยู่ในระดับมากที่สุด และมีผลกระทบทางพัฒนาการเด็กตามคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (DSPM) ได้แก่ พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว (Gross motor : GM) พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา (Fine Motor : FM) พัฒนาการด้านการเข้าใจภาษา (Receptive Language : RL) พัฒนาการด้านการใช้ภาษา ( Expressive Language : EL) และพัฒนาการด้านการช่วยเหลือตนเองและสังคม (Personal and Social : PS) พบว่า เด็กปฐมวัยพัฒนาการสมวัยทุกด้าน