ความสำคัญของผลงานหรือนวัตกรรมที่นำเสนอ
การจัดการศึกษาสำหรับเด็กอายุ 3-6 ปี เป็นการจัดการศึกษาในลักษณะของการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษา เด็กจะได้รับการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ - จิตใจ สังคมและสติปัญญาตามวัยและความสามารถของแต่ละบุคคล การเตรียมความพร้อมทางวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรบุคคลของชาติทั้งปัจจุบันและอนาคตเพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และเล็งเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ต่อการดำเนินชีวิต ครอบครัวและการอยู่ร่วมกันในสังคม หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 ได้กำหนดสาระทางวิทยาศาสตร์
ไว้ในหลักสูตร เรียกว่า ธรรมชาติรอบตัว โดยกำหนดให้เด็กเรียน สิ่งมีชีวิต สิ่งไม่มีชีวิต รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของโลกที่แวดล้อมเด็กตามธรรมชาติ การจัดประสบการณ์ระดับปฐมวัย ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 หมวด 5 แนวการจัดการเรียนการสอน มาตรา 2 กล่าวว่า การจัดการศึกษาต้องยึดผู้เรียนเป็นสำคัญที่สุด เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการครบทุกด้าน ได้ฝึกการทำงาน และการอยู่ร่วมกัน ทั้งเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มใหญ่ ทั้งในและนอกห้องเรียน ในระยะเวลาที่เหมาะสมและยืดหยุ่นได้ตามความสนใจและความต้องการของเด็ก
โรงเรียนยางอู้มวิทยาคาร โรงเรียนเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาขนาดกลาง และได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนต้นแบบโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2539 เป็นต้นมา โรงเรียนยางอู้มวิทยาคาร ตระหนักในความสำคัญของการจัดการศึกษาในทุกระดับ โดยในระดับก่อนประถมศึกษาจัดให้มีการจัดประสบการณ์และกิจกรรมให้แก่เด็กตามหลักการของหลักสูตรการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัยเสมอมาทุกปี ในการจัดประสบการณ์ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 3 ได้ประเมินพัฒนาการและวิเคราะห์เด็กเป็นรายบุคคล พบว่าเด็กมีพัฒนาการทุกด้านโดยรวมอยู่ในระดับดี แต่เมื่อแยกเป็นรายพัฒนาการ พบว่า พัฒนาการด้านสติปัญญาของเด็กอนุบาลต่ำกว่าพัฒนาการด้านอื่นๆ และ
ต่ำกว่าเป้าหมายของทางโรงเรียนที่ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กปฐมวัยในแต่ละด้านไว้ร้อยละ 80 ซึ่งผลการประเมินคุณภาพของเด็กอนุบาล พบว่า พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อและด้านอื่น ๆ เพิ่มขึ้น แต่พัฒนาการด้านสติปัญญาหรือการเตรียมความพร้อมของพัฒนาการด้านสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าเป้าหมาย และจากการสังเกตการณ์เรียนรู้ของเด็กอนุบาล พบว่า พื้นฐานของทักษะกระบวนทางวิทยาศาสตร์ของเด็กยังไม่เป็นที่น่าพอใจเพราะเด็กขาดทักษะการสังเกต ทักษะการลงความเห็นข้อมูล ทักษะการจำแนกประเภท ทักษะการวัด และทักษะการ
สื่อความหมายข้อมูลโต้ตอบและแสดงความคิดเห็นเด็กยังไม่กล้าที่จะแสดงออกเท่าที่ควร ซึ่งทักษะดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องมีการส่งเสริมให้เกิดกับเด็ก เนื่องจากวิทยาศาสตร์มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์
การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบโครงการ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นที่ตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ มุ่งเน้นที่การปฏิบัติจริง การเรียนรู้แบบโครงการ วิธีการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสำหรับที่จะเป็นการปูพื้นฐานด้านทางวิทยาศาสตร์และทำให้ผู้เรียนเกิดความคิดรวบยอดในเรื่องที่ได้เรียนรู้เนื่องจากหลักการของรูปแบบการจัดประสบการณ์แบบโครงการนั้นเด็กจะได้ศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างลุ่มลึกลงไปในรายละเอียดของเรื่องนั้นด้วยกระบวนการคิด และแก้ปัญหาของเด็กเอง จนพบคำตอบที่ต้องการ เรื่องที่ศึกษากำหนดโดยเด็กเอง ประเด็นที่ศึกษาเกิดจากข้อสงสัยหรือปัญหาของเด็กเอง เด็กได้มีประสบการณ์ตรงกับเรื่องที่ศึกษา โดยการสังเกตอย่างใกล้ชิดจากแหล่งความรู้เบื้องต้น ระยะเวลาการสอนยาวนานอย่างเพียงพอตามความสนใจของเด็ก เด็กได้ประสบทั้งความล้มเหลว และความสำเร็จในการศึกษาตามกระบวนการแก้ปัญหาของเด็ก ความรู้ใหม่ที่ได้จากกระบวนการศึกษาและการแก้ปัญหาของเด็กเป็นสิ่งที่เด็กได้กำหนดประเด็นศึกษาขึ้นใหม่ หรือใช้ปฏิบัติกิจกรรมที่เด็กต้องการ เด็กได้นำเสนอกระบวนการศึกษา และผลงานต่อคนอื่น ครูไม่ใช่ผู้ถ่ายทอดความรู้หรือกำหนดกิจกรรมให้เด็กทำแต่เป็นผู้กระตุ้นให้เด็กใช้ภาษาหรือสัญลักษณ์อื่น ๆ เพื่อจัดระบบความคิด และสนับสนุนให้เด็กใช้ความรู้ ทักษะ ที่มีอยู่คิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง
ผู้ศึกษาได้ศึกษาหลักการ เหตุผลและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องแล้วพบว่าการจัดประสบการณ์แบบโครงการทำให้เด็กมีคะแนนเฉลี่ยหลังการจัดประสบการณ์สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์ มีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และมีทักษะกระบวนการในการเรียนรู้ รู้จักการทำงานเป็นกลุ่ม เด็กสามารถเห็นความรู้ได้จริงและเกิดความคิดรวบยอดในเรื่องที่ได้เรียนรู้ มีความคงทนของความรู้ จึงดำเนินการศึกษาผลการจัดประสบการณ์ตามแนวการจัดประสบการณ์แบบโครงการ เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับครู และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาระดับปฐมวัย เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
จุดประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินการ
1. เพื่อพัฒนาการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์ตามแนวการจัดประสบการณ์แบบโครงการ เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80
2. เพื่อหาค่าดรรชนีประสิทธิผลของการพัฒนาการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์ตามแนวการจัดประสบการณ์แบบโครงการ เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย
3. เพื่อเปรียบเทียบทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยของเด็กปฐมวัย ระหว่างก่อนและหลังได้รับการจัดประสบการณ์แบบโครงการ
กระบวนการผลิตหรือขั้นตอนการดำเนินการศึกษา
1. สมมติฐานของการศึกษาค้นคว้า
เด็กปฐมวัย มีคะแนนเฉลี่ยของทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หลังได้รับการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์ ตามแนวการจัดประสบการณ์แบบโครงการสูงกว่าก่อนได้รับการจัดประสบการณ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
2. ขอบเขตการศึกษาค้นคว้า
2.1 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนยางอู้มวิทยาคาร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 ที่กำลังเรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2554 จำนวน 30 คน ซึ่งได้จากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling)
2.2 เนื้อหาที่ใช้ในการทดลอง เป็นเนื้อหาในสาระการเรียนรู้ธรรมชาติรอบตัว ชั้นอนุบาลปีที่ 3 ตามแนวการจัดประสบการณ์แบบโครงการมีทั้งหมด 8 โครงการ ตามแนวทางการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ปฐมวัย ของสถาบันส่งเสริม
การสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ประกอบด้วย โครงการที่ 1 เรื่องการเปลี่ยนแปลงของโลก โครงการที่ 2 เรื่อง ต้นไม้ โครงการที่ 3 เรื่อง แมลง โครงการที่ 4 เรื่อง มด โครงการที่ 5 เรื่องกระดาษหรรษา โครงการที่ 6 เรื่อง การจม การลอย โครงการที่ 7 เรื่อง แม่เหล็ก และโครงการที่ 8 เรื่อง มะขามทรงเครื่อง
2.3 ตัวแปรที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า ได้แก่
2.3.1 ตัวแปรต้น ได้แก่ การพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ตามแนวการจัดปราบการณ์แบบโครงการ
2.3.2 ตัวแปรตาม ได้แก่ ผลการสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้และทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
2.4 ระยะเวลาที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2554 ทำการทดลองจัดประสบการณ์ สัปดาห์ละ 5 วัน ในวันจันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดีและศุกร์ รวม 8 สัปดาห์ จำนวน 40 ครั้ง ครั้งละ 20 นาที จำนวน 40 แผนการจัดประสบการณ์
3. กรอบแนวคิดในการศึกษาค้นคว้า
4. นิยามศัพท์เฉพาะ
4.1 แผนการจัดประสบการณ์ตามแนวการจัดประสบการณ์แบบโครงการ เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หมายถึง รูปแบบการวางแผนการจัดประสบการณ์เรียนรู้ที่ส่งเสริมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ อันได้แก่ ทักษะการสังเกต ทักษะการลงความคิดเห็นจากข้อมูล ทักษะการจำแนกประเภท ทักษะการวัด และทักษะการสื่อความหมายข้อมูล โดยมีการนำแนวคิดและหลักการจัดประสบการณ์แบบโครงการมาเป็นแนวทางในการสนับสนุนให้เด็กได้ศึกษาค้นคว้าทดลองโดยใช้กระบวนการสืบค้น และกำหนดวิธีการแสวงหาคำตอบด้วยวิธีการของตนเองในหัวข้อหรือหน่วยการเรียนรู้ที่เด็กสนใจโดยผ่านการจัดประสบการณ์ตรงในการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคล วัตถุสิ่งของ และสภาพแวดล้อมรอบตัว ซึ่งมีขั้นตอนดำเนินกิจกรรมตามแนวการจัดประสบการณ์แบบโครงการ 3 ระยะ
4.1.1 ระยะที่ 1 เริ่มต้นโครงการ เป็นระยะที่เด็กสนทนาระดมความคิด อภิปรายแสดงความคิดเห็น เพื่อค้นหาสิ่งที่สนใจ มากำหนดเป็นหัวเรื่องที่จะทำโครงการร่วมกันของกลุ่มครูจะเป็นผู้ช่วยกระตุ้นให้เด็กคิดนำเสนอความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์เดิมที่เกี่ยวกับหัวเรื่องเสนอความที่ต้องการสืบค้นทำโครงการร่วมกัน
4.1.2 ระยะที่ 2 พัฒนาโครงการเป็นระยะที่เด็กค้นหา สืบค้น ค้นคว้า ปฏิบัติตามแผนการที่วางไว้จนสำเร็จ
4.1.3 ระยะที่ 3 รวบรวมสรุปเป็นระยะที่ทุกคนพอใจที่จะสรุปสิ่งที่ได้ค้นหา สืบค้นค้นคว้า เรียนรู้ วางแผนนำเสนอผลงานที่ทำในโครงการที่สำเร็จ ตามแนวนิทรรศการ หรือจัดแสดงผลงานเชิญบุคคลอื่นมาชมนิทรรศการ หรือผลงาน เมื่อสิ้นสุดการแสดงผลงาน เด็กและครูร่วมกันประเมินผลงานตามโครงการและอภิปรายผลการทำโครงการ วางแผนการเข้าสู่โครงการใหม่
4.2 การพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กปฐมวัยที่แสดงออกถึงความสามารถเกี่ยวกับทักษะเบื้องต้นในการที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ต่อไป อันได้แก่ทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับทักษะการสังเกต ทักษะการลงความคิดเห็นจากข้อมูล ทักษะการจำแนกประเภท ทักษะการวัด และทักษะการสื่อความหมายข้อมูล ซึ่งประเมินจากแบบวัดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้น
5. แบบแผนที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า
การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้เป็นการศึกษาค้นคว้าเชิงทดลอง แบบแผนที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าเป็นแบบกลุ่มเดียว วัดผลก่อนการจัดประสบการณ์และหลังการจัดประสบการณ์
6. เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า
6.1 แผนการจัดประสบการณ์แบบโครงการ จำนวน 40 แผน
6.2 เอกสารประกอบการจัดประสบการณ์แบบโครงการ จำนวน 8 เล่ม
6.3 แบบวัดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จำนวน 5 ชุด ชุดละ 4 ข้อ รวม 20 ข้อ
7. วิธีดำเนินการศึกษาค้นคว้า
7.1. วัดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ก่อนการจัดประสบการณ์ (Pre-test) เพื่อวัดความรู้พื้นฐานของเด็กปฐมวัย โดยวัดทักษะในชั่วโมงแรก ด้วยแบบวัดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้น
7.2 ดำเนินการจัดประสบการณ์ ตามแผนการจัดประสบการณ์ที่ 1-40 ตามแนวการจัดประสบการณ์แบบโครงการ เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย
ชั้นอนุบาลปีที่ ใช้เวลาในการจัดกิจกรรม 40 ครั้ง ครั้งละ 20 นาที
7.3 ทำการวัดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้แบบวัดทักษะชุดเดียวกันกับแบบวัดก่อนการจัดประสบการณ์ (Post-test)
ผลการดำเนินการ/ผลสัมฤทธิ์/ประโยชน์ที่ได้รับ
1. ประสิทธิภาพของการพัฒนาการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์ตามแนวการจัดประสบการณ์แบบโครงการ
เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย มีประสิทธิภาพเท่ากับ 84.58/83.96
2. ดรรชนีประสิทธิผลของการพัฒนาการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์ตามแนวการจัดประสบการณ์แบบโครงการ เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย มีค่าเท่ากับ 0.7441 ซึ่งแสดงว่าเด็กปฐมวัยมีความรู้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 74.41
3. เด็กปฐมวัยมีคะแนนเฉลี่ยของทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์หลังได้รับการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์ ตามแนวการจัดประสบการณ์แบบโครงการสูงกว่าก่อนได้รับการจัดประสบการณ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. ผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 มีพัฒนาการตามมาตรฐานคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ทั้ง 12 มาตรฐานและผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ทุกคน
ปัจจัยความสำเร็จ
1. การจัดกิจกรรมตามแนวการจัดประสบการณ์แบบโครงการ ได้พัฒนารูปแบบและกระบวนการขั้นตอนในการจัดทำอย่างมีระบบและวิธีการที่เหมาะสม โดยศึกษาหลักสูตร คู่มือครู เนื้อหา เทคนิคการสร้างจากเอกสารตำราที่เกี่ยวข้อง แล้วดำเนินการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์โดยยึดหลักการและเป้าหมาย จุดมุ่งหมาย ขั้นตอน โดยมีการจัดทำคู่มือในการจัดกิจกรรมที่ได้ผ่านการตรวจแก้ไขข้อบกพร่องตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญ ตรวจสอบคุณภาพและความเหมาะสมจากผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหา ผ่านการทดลองใช้กับเด็กปฐมวัยเพื่อตรวจสอบความเหมาะสมของเวลาในการ
จัดกิจกรรม และแก้ไขข้อบกพร่องให้เหมาะสมยิ่งขึ้น แล้วจึงนำไปทดลองใช้กับกลุ่มเป้าหมาย
2. การมีส่วนร่วมของผู้เรียน ครู ในการกำหนดเรื่องหรือประเด็นที่ต้องการศึกษา การให้ความร่วมมือจากผู้ปกครอง หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือครูวิทยากร เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และค้นพบด้วยตนเองมากที่สุด โดยร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้างสรรค์ด้วยความมุ่งมั่น เสียสละ จริงจังและจริงใจ
3. การจัดกิจกรรมตามแนวการจัดประสบการณ์แบบโครงการส่งเสริมการฝึกปฏิบัติความพร้อมของเด็กทุกด้าน โดยบูรณาการกิจกรรมต่างๆ ที่จะส่งเสริมความพร้อมนั้นเข้าด้วยกัน มีสื่อเป็นของจริงและใกล้ตัว เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
4. การได้รับการส่งเสริมสนับสนุนช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกจากผู้บริหาร เพื่อนครู ผู้ปกครองและชุมชนอย่างต่อเนื่อง
บทเรียนที่ได้รับ (Lesson Learned)
การจัดกิจกรรมตามแนวการจัดประสบการณ์แบบโครงการ เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ดำเนินการตามขั้นตอน 3 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 เริ่มต้นโครงการ โดยการกระตุ้นความสนใจใคร่รู้/ดึงประสบการณ์เดิม ประกอบด้วย การสร้างและสังเกตความสนใจของเด็ก กระตุ้นความสนใจในการกำหนดหัวเรื่อง เด็กนำเสนอหัวเรื่องที่สนใจ เด็กร่วมมือกันคัดเลือกและกำหนดหัวเรื่องที่สนใจ เด็กนำเสนอประสบการณ์เดิม กำหนดประเด็นที่จะศึกษา แจ้งข่าวสารถึงผู้ปกครอง
ระยะที่ 2 พัฒนาโครงการ โดยแสวงหาประสบการณ์ใหม่ ประกอบด้วย การสรุปประเด็กปัญหา/ข้อสงสัยที่ศึกษา เลือกประเด็นที่จะศึกษา ตั้งสมมติฐาน วางแผนการศึกษาและสืบค้นตามประเด็นที่ต้องการศึกษา และสรุปความรู้ที่ได้จากการศึกษา
ระยะที่ 3 สรุปโครงการ โดยการสรุปและนำเสนอผลงาน ประกอบด้วย การสรุปความรู้ความเข้าใจที่ได้จากการศึกษา นำเสนอผลงาน ประเมิน/อภิปรายผลการทำโครงการและวางแผนเข้าสู่โครงการใหม่
โดยสรุป การพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ตามแนวทางการจัดประสบการณ์
แบบโครงการ เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กลงมือปฏิบัติเอง วางแผนการดำเนินการ และกระตุ้นการคิด การทดลอง
สืบเสาะ ค้นหาด้วยตนเองทำให้เกิดองค์ความรู้ที่แท้จริง มีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย ทักษะ
การสังเกต (Observing) ทักษะการวัด (Measure) ทักษะการจำแนกประเภท (Classifying) ทักษะสื่อความหมายข้อมูล (Communicating) และทักษะการลงความเห็นข้อมูล (Inferring) รวมทั้งมีพัฒนาการด้านสังคมและพัฒนาการด้านสติปัญญาพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การจัดประสบการณ์ตามแนวการจัดประสบการณ์แบบโครงการย่อมทำให้เกิด
องค์ความรู้ที่ชัดเจนและสามารถนำไปใช้ในการจัดประสบการณ์ เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีคุณภาพต่อไป