ความสำคัญของผลงานหรือนวัตกรรมที่นำเสนอ
กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ เป็นสื่อที่ควรพัฒนาให้เกิดกับนักเรียนทุกระดับชั้น โดยเฉพาะนักเรียนอนุบาล นักเรียนอนุบาลเป็นวัยที่สำคัญที่สุดสำหรับพัฒนาการของชีวิตมนุษย์ สิ่งที่นักเรียนอนุบาลได้รับประสบการณ์และการเรียนรู้ในช่วง 6 ปีแรกของชีวิตจะมีผลต่อการวางรากฐานที่สำคัญต่อบุคลิกภาพของนักเรียนอนุบาลที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ นักเรียนอนุบาลมีการพัฒนาช่วงอายุระหว่าง 0-6 ปี ถือว่าเป็นช่วงโอกาสทองของการเรียนรู้ ในวัยนี่สมองเติบโตอย่างรวดเร็ว ถ้านักเรียนอนุบาลได้รับการพัฒนาและได้รับการกระตุ้นด้วยวิธีการที่ถูกต้อง จะช่วยส่งเสริมให้มีความพร้อมสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญา (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. 2543: 16) นักเรียนอนุบาลอายุ 3-6 ปี เป็นวัยที่ร่างกายและสมองกำลังเจริญเติบโต ต้องการความรัก ความเอาใจใส่ ดูแลอย่างใกล้ชิด นักเรียนอนุบาลวัยนี้มีโอกาสเรียนรู้จากการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้สำรวจ เล่น ทดลอง ค้นพบด้วยตนเอง ได้มีโอกาสคิดแก้ปัญหา เลือก ตัดสินใจ ใช้ภาษาสื่อความหมาย ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข (กระทรวงศึกษาธิการ. 2546: ความนำ) ดังนั้นการจัดการศึกษาให้แก่นักเรียนอนุบาลหากได้รับการส่งเสริมและช่วยเหลือออย่างถูกวิธี และเป็นไปตามขั้นตอนของการพัฒนาแล้ว จะทำให้นักเรียนอนุบาลเหล่านั้นมีความพร้อมและมีศักยภาพต่อไปอย่างสูงสุด จากสถานการณ์ในปัจจุบันสังคมมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว คนในสังคมก็มีวิถีการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้คนในสังคมละเลยส่วนรวม ให้ความสำคัญรวมทั้งนึกถึงประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก ไม่เข้าใจถึงการปฏิบัติตนที่เหมาะสมในสังคม ทำให้คนในสังคมไทยในปัจจุบันขาดความมีวินัยทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่น ดังนั้นการสร้างวินัย ควรเริ่มตั้งแต่วัยเด็กเล็กเนื่องจากเป็นวันแห่งการเรียนรู้ เป็นวัยที่กำลังสร้างลักษณะนิสัยต่อเนื่อง หากถูกปลูกฝังวินัยหรือพฤติกรรมที่ดีตั้งแต่ยังเด็กย่อมส่งผลให้เด็ก เมื่อเติบโตขึ้นจะเป็นบุคคลที่มีระเบียบวินัยในตนเองและเห็นประโยชน์ส่วนร่วมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน การส่งเสริมให้เด็กมีวินัยในตนเองนั้น จะช่วยให้เด็กมีพฤติกรรมที่เหมาะสม การมีวินัยในตนเอง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาอุปนิสัยของเด็กและความมีวินัยในตนเอง จะเป็นพื้นฐานของบุคคลในการควบคุมตนเองให้มีวินัยทางสังคมต่อไป ( สุชา จันทรเอม. 2511:49-53) การปลูกฝังวินัยสำหรับเด็กช่วยให้เด็กมั่นใจว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ ทำให้เด็กสามารถหลีกเลี่ยงการทำผิด หรือรู้สึกอายต่อการทำผิด อีกทั้งยังช่วยให้เด็กอยู่ในมาตรฐานการยอมรับของสังคมและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ช่วยให้เด็กพัฒนาจิตสำนึก มโนธรรม หรือเสียงจากภายในตนเอง ซึ่งช่วยทำให้สามารถตัดสินใจและควบคุมพฤติกรรมด้วยตนเอง (Hurlock. 1984:393) เด็กสามารถประพฤติปฏิบัติตนในเป็นไปในลักษณะที่สังคมยอมรับและเกิดความสำนึกว่า เป็นค่านิยมที่ดีในด้านต่างๆ ได้แก่ ความรับผิดชอบ การรู้จักเวลาความเชื่อมั่นในตนเอง ความซื่อสัตย์ ความเป็นผู้นำ (กลมจันทร์ ชื่นฤทธิ์. 2550:19) การปลูกฝังวินัยให้กับเด็กจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการปลูกฝังวินัยในช่วงปฐมวัย เนื่องจากเป็นการบ่มเพาะเมล็ดพืชแห่งวินัยในตัวเด็กตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เพื่อให้วินัยหยั่งรากลึกลงอย่างมั่นคงมากขึ้น (พระธรรมปิฎก. 2538: 18-22)
จากการสังเกตพฤติกรรมความมีวินัยในตนเองพบว่า การจัดการเรียนการสอนในระดับปฐมวัยของโรงเรียนเมธาศึกษา มีการนำสื่อการสอนประเภทศิลปะสร้างสรรค์ มาใช้ในการจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริม พัฒนาการทั้ง 4 ด้าน สิ่งที่ยังไม่ได้มีการให้ความสำคัญอย่างจริงจังคือ การพัฒนาเด็กในด้านคุณธรรม จริยธรรม และวินัย แต่พฤติกรรมด้านวินัยของเด็กนั้น ยังคงพบพฤติกรรมที่เป็นปัญหา เช่น การเข้าแถว ชอบแซงคิว แกล้งเพื่อน เล่นกันในเวลาที่ครูสอน และจากการทดสอบความมีวินัยพบว่า เด็กบางคน ไม่ทราบว่าพฤติกรรมเหล่านั้นไม่เหมาะสมอย่างไร ทำให้เด็กแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและไม่ทราบว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรในการดำเนินชีวิตต่อไป ซึ่งหากปล่อยให้เป็นปัญหาเช่นนี้ จะส่งผลต่อความคิดและจิตใจของเด็ก เมื่อเติบโตขึ้นก็อาจก่อให้เกิดเป็นปัญหาแก่สังคมได้
การพัฒนาความมีวินัยในตนเองสำหรับนักเรียนอนุบาล การทำกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้เด็กเกิดความสนใจและมีความสุขแสดงออกผ่านผลงานศิลปะ และทำให้เด็กเกิดความมีวินัยในตนเองขณะทำกิจกรรม การพัฒนาความมีวินัยในตนเองสามารถปฏิบัติได้หลายวิธี เช่น การเสริมแรงทางบวก เป็นการทำให้เกิดความพึงพอใจ ตัวอย่างการเสริมแรงทางบวกที่ง่ายและได้ผล คือ การพูดชมเชย การพูดให้กำลังใจ รอยยิ้ม การปรบ มือ รวมถึงการให้รางวัลเล็กๆน้อยๆที่เด็กชอบเพื่อเสริมแรงพฤติกรรมพึงประสงค์ จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เด็กๆ ทำตามระเบียบวินัยอย่างเต็มใจ การเบี่ยงเบนความสนใจ การอธิบายด้วยคำพูด การตั้งกฎ การกักบริเวณ การงดรางวัลหรือสิ่งที่ชอบหรือวิธีอื่นๆ เป็นต้น
กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สามารถพัฒนาความมีวินัยในตนเองเนื่องจากกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ เป็นกิจกรรมให้เด็กได้แสดงออกทางอารมณ์ ความรู้สึก ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และจินตนาการ เด็กได้ทำกิจกรรมเพื่อฝึกให้เด็กรู้จักการวางแผน การทำงานร่วมกับผู้อื่น ฝึกความเป็นระเบียบ วินัย เก็บของเข้าที่ ปฏิบัติตามข้อตกลงร่วมกัน รู้จักการรอคอย รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น การมีมารยาททางสังคมเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์เป็นกิจกรรมประจำวันสำหรับนักเรียนอนุบาล เป็นกิจกรรมเสรีที่เด็กอยากทำสนใจที่จะทำเมื่อทำแล้วมีความสุข สามารถพัฒนาเด็กด้านต่างๆ ทั้งด้านร่างกายอารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญา ซึ่งเด็กทุกคนต้องการแสดงออกด้านความคิดและความรู้สึกต้องการบอก ต้องการพูดต้องการเขียนเพื่อ ถ่ายทอดความรู้และความรู้สึกของตน วิธีการของเด็กในการถ่ายทอดความคิดและอารมณ์ความรู้สึกจากจินตนาการจะถ่ายทอดสู่งานศิลปะ (กุลยา ตันติผลาชีวะ. 2547: 188)
ครูผู้สอนมีความสนใจที่จะพัฒนาความมีวินัยในตนเองโดยนำกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ มาจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความมีวินัยในตนเองของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ทำให้ครูได้นำกิจกรรมสร้างสรรค์ มาใช้ในการส่งเสริมความมีวินัยในตนเองของนักเรียนหรือประยุกต์ใช้ในกิจกรรมอื่นต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนาความมีวินัยในตนเองของนักเรียนอนุบาลชั้นปีที่ 2 โดยใช้กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์
2. เพื่อให้เด็กได้แสดงออกซึ่งความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
3. เพื่อให้เด็กได้ผ่อนคลายอารมณ์ให้ร่าเริงแจ่มใส และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้
กลุ่มเป้าหมาย
นักเรียนอนุบาลชั้นปีที่ 2 ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนเมธาศึกษา จำนวน 20 คน
นวัตกรรม
กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์โดยใช้สื่อที่หลากหลายเพื่อพัฒนาความมีวินัยในตนเอง
เครื่องมือ
- กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์
- แบบสังเกตความมีวินัยในตนเองของนักเรียน
วิธีดำเนินงาน
1. ศึกษาหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 และคู่มือการใช้หลักสูตร ในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ มาตรฐานและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของเด็กปฐมวัยคุณลักษณะตามวัยของเด็กปฐมวัย สาระการเรียนรู้ขอบข่ายของกิจกรรมที่จัดให้กับเด็ก และพบว่ากิจกรรมสร้างสรรค์เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับงานศิลปะต่างๆ
2. ศึกษาหลักสูตรสถานศึกษา โรงเรียนเมธาศึกษา พุทธศักราช 2560 โดยครูได้ออกแบบการจัดกิจกรรม สร้างสรรค์ ตามหน่วยการเรียนรู้ต่างๆ ตามแผนการจัดประสบการณ์ของชั้นอนุบาลปีที่ 2 ทั้งหมด 40 หน่วยการเรียนรู้
3. จัดกิจกรรมศิลปะตามหน่วยการเรียนรู้
4. ประเมินผลและสรุปผลรายงานผล
ผลการดำเนินงาน
ผลที่เกิดกับผู้เรียน
1. หลังการใช้กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ นักเรียนอนุบาลชั้นปีที่ 2 มีวินัยในตนเองมากขึ้น
2. นักเรียนสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี
3. นักเรียนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สามารถสร้างชิ้นงาน สร้างสรรค์งานศิลปะแสดงต่อ
สาธารณชนได้
ผลที่เกิดกับครู
1. ครูมีความรู้ความเข้าใจ และตระหนักในการพัฒนาคุณภาพนักเรียน ตามมาตรฐานและพัฒนาตนเองสู่ครูมืออาชีพ
2. ครูได้พัฒนาความรู้และทักษะการจัดการเรียนการสอนเพิ่มขึ้นทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ
ผลที่เกิดกับโรงเรียน
โรงเรียนได้รับความไว้วางใจในการส่งบุตรหลานมาเข้าเรียน
ผลที่เกิดกับชุมชน
ชุมชนมีความมั่นใจต่อการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน ชุมชนมีความภาคภูมิใจ ศรัทธาต่อโรงเรียน และสนุบสนุนโรงเรียนมากขึ้น
ปัจจัยความสำเร็จ
1. ผู้บริหารมีภาวะผู้นำและให้ความสำคัญสนับสนุนในการดำเนินกิจกรรม
2. เด็กๆให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการร่วมกิจกรรมเกิดความสนุกสนานกับกิจกรรมการจัด
ประสบการณ์การเรียนรู้
3. ผู้ปกครองให้การร่วมมือสนับสนุนในการจัดหาสื่อเพื่อใช้ในการจัดกิจกรรม
4. มีการประเมินพัฒนาการและปรับปรุงผลการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง
บทเรียนที่ได้รับ
1. เด็กไดรับประสบการณตรงและมีวินัยในตนเองมากขึ้น
2. เด็กมีความคิดสรางสรรคสามารถสรุปองคความรูไดดวยตนเอง
3. เด็กมีความมั่นใจในการทํางานและทํางานรวมกับผูอื่นได
4. เด็กภาคภูมิใจในผลงานของตนเอง
ข้อเสนอแนะในการพัฒนาต่อไป
การจัดกิจกรรมเน้นให้นักเรียนอนุบาลได้ปฏิบัติด้วยตนเองทุกๆ กิจกรรม และคิดรูปแบบกิจกรรมที่น่าสนใจ ให้เด็กอยากเรียนรู้และอยากทำกิจกรรมมากขึ้น และเด็กเกิดความสุข สนุกสนานกับการทำกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์