ชื่อเรื่อง ศึกษาสภาพปัญหาการอ่านบทอาขยาน เพื่อพัฒนาการอ่านบทอาขยาน
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ชื่อผู้วิจัย นางสาว สุพิชญา ชูสกุล
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
สังกัด โรงเรียนเทศบาล 3 (ชาญวิทยา) กองการศึกษาเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์
กรมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการพัฒนาการอ่านบทอาขยาน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเทศบาล 3 (ชาญวิทยา) กองการศึกษา เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ (2) ศึกษาแนวทางพัฒนาการอ่านบทอาขยาน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเทศบาล 3 (ชาญวิทยา) กองการศึกษาเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ กลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย ครูที่สอนภาษาไทย จำนวน 5 คน และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนเทศบาล 3 (ชาญวิทยา) กองการศึกษาเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ จำนวน 100 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ แบบสอบถาม แบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ที่มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ 0.94 สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า (1) สภาพปัญหาการอ่านบทอาขยาน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อตามระดับค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย ลำดับแรกคือ เนื้อหาในบทอาขยานไม่สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริง รองลงมา ขาดแรงจูงใจในการฝึกท่องบทอาขยาน และออกเสียงพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ผิด และจับใจความไม่ได้ (2) ความต้องการการพัฒนาการอ่านบทอาขยานของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อตามระดับค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย ลำดับแรกคือ เสริมความเข้าใจอักขรวิธี จังหวะ วรรคตอน และเนื้อหา จากอ่านบทอาขยาน รองลงมา ฝึกค้นหาคำควบกล้ำจากข่าว บทความ นิทาน หรือแผ่นโฆษณาสินค้าต่างๆ และฝึกอ่านคำควบกล้ำ แล้วนำคำจากบทอาขยานไปแต่งประโยค ลำดับสุดท้ายคือ ฝึกอ่านออกเสียงบทอาขยานตามครู และ (3) แนวทางพัฒนาการอ่านบทอาขยานของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านตามระดับค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย ลำดับแรกคือ ด้านการแบ่งกลุ่ม อยู่ในระดับมาก รองลงมา ด้านการแข่งขัน อยู่ในระดับมาก ส่วน ด้านการทบทวน และด้านการรู้ให้แจ้ง และด้านการสร้างศรัทธา อยู่ในระดับปานกลาง ตามลำดับ