ชื่อวิจัย : แนวทางการพัฒนาศักยภาพเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะครูวิทยาศาสตร์สู่มืออาชีพ
ในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนเทศบาลประตูลี้จังหวัดลำพูน
ผู้วิจัย : กมลชนก สะคำปัน
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์
โรงเรียนเทศบาลประตูลี้ จังหวัดลำพูน
ปีที่วิจัย : 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง แนวทางการพัฒนาศักยภาพเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะครูวิทยาศาสตร์สู่มืออาชีพ ในศตวรรษที่ 21 ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) วิเคราะห์ระดับสมรรถนะครูวิทยาศาสตร์สู่มืออาชีพ ในศตวรรษที่ 21 และ 2) ศึกษาแนวทางการพัฒนาศักยภาพเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะครูวิทยาศาสตร์ สู่มืออาชีพในศตวรรษที่ 21 การดำเนินงานในการวิจัยในครั้งนี้ มีประชากรกลุ่มเป้าหมาย รวมจำนวน 60 คน โดยใช้วิธีแบบเจาะจงจากครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน ที่มีคุณวุฒิการสอนวิชาเอกวิทยาศาสตร์และมีประสบการณ์การสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ไม่น้อยกว่า 5 ปี เครื่องมือในการศึกษา คือ แบบสอบถามแนวทางการพัฒนาศักยภาพเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะครูวิทยาศาสตร์ สู่มืออาชีพในศตวรรษที่ 21 จำนวน 68 ข้อ โดยผู้วิจัยเก็บข้อมูลด้วยตนเองแล้วนำมาวิเคราะห์หาค่าคะแนนเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและค่าความสัมพันธ์
ผลการศึกษาพบว่า สมรรถนะครูวิทยาศาสตร์สู่มืออาชีพในศตวรรษที่ 21 โดยภาพรวม มีระดับศักยภาพครูวิทยาศาสตร์สู่มืออาชีพ ในศตวรรษที่ 21อยู่ในเกณฑ์ มากที่สุด ประกอบด้วย ด้านที่ 1 บทบาทครูวิทยาศาสตร์ ด้านที่ 2 ความรับผิดชอบครูวิทยาศาสตร์ และด้านที่ 3 หน้าที่ครูวิทยาศาสตร์ ในส่วนของแนวทางการพัฒนาศักยภาพเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะครูวิทยาศาสตร์สู่มืออาชีพในศตวรรษที่ 21 พบว่ามีตัวแปรองค์ประกอบได้แก่ 1) การเป็นผู้อำนวยการความรู้ 2) การเป็นผู้นำเทคโนโลยี 3) การเป็นผู้แนะแนวทาง 4) ทำหน้าที่ความเป็นครูวิทยาศาสตร์ 5) ทำหน้าที่ความเป็นพ่อแม่ของผู้เรียน 6) ทำหน้าที่ต่อสังคม 7) มีความรับผิดชอบต่อตนเอง 8) มีความรับผิดชอบต่อผู้อื่น และ 9) มีความรับผิดชอบต่อสังคม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .01
สำหรับแนวทางการพัฒนาศักยภาพเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะครูวิทยาศาสตร์สู่มืออาชีพ ในศตวรรษที่ 21 พบว่า มีตัวแปรปัจจัยที่ประกอบด้วย 1) ด้านหน้าที่ครูวิทยาศาสตร์ 2) ด้านบทบาทครูวิทยาศาสตร์ และ 3) ด้านความรับผิดชอบของครูวิทยาศาสตร์ แสดงให้เห็นว่า ครูวิทยาศาสตร์ต้องตระหนักและสร้างความรับผิดชอบในด้านการพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ และต้องปรับเปลี่ยนบทบาทครูผู้สอนให้เข้าสู่ยุคแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21