บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ
1) พัฒนาและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ เรื่อง อัตราส่วน สัดส่วนและร้อยละ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
2) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งประกอบด้วยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และทักษะการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่1 ก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ และ
3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ เรื่อง อัตราส่วน สัดส่วน และร้อยละ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/1 จำนวน 40 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนบัวขาว อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยรูปแบบการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ เรื่อง อัตราส่วน สัดส่วน และร้อยละ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 แผนการจัดการเรียนรู้ แบบประเมินความสอดคล้องของรูปแบบการเรียนการสอน แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ เรื่อง อัตราส่วน สัดส่วน และร้อยละ แบบวัดความสามารถการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ และแบบสอบถามความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าทีแบบไม่อิสระ (t-test for dependent samples) และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1) รูปแบบการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ เรื่อง อัตราส่วน สัดส่วน และร้อยละ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีชื่อว่า USDC^2 Model โดยมีองค์ประกอบ ได้แก่ หลักการ วัตถุประสงค์ ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ ระบบสังคม หลักการตอบสนอง และสิ่งสนับสนุน และสิ่งที่ส่งเสริมในการเรียนรู้ รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นนี้มีขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ขั้นการทำความเข้าใจปัญหา (Understanding Problem) 2) ขั้นลงมือแก้ปัญหา (Solving Problem) 3) ขั้นอภิปรายวิธีการแก้ปัญหา (Discussing Solutions) 4) ขั้นสรุปบทเรียน (Concluding Lesson) 5) ขั้นเชื่อมโยงความรู้ (Connecting Knowledge) ซึ่งมีค่าประสิทธิภาพ (E1/E2) ของรูปแบบการเรียนการสอน เท่ากับ 82.56/81.95 เมื่อเทียบกับเกณฑ์ 80/80 ปรากฏว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2) นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณโดยภาพรวม หลังเรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ เรื่อง อัตราส่วน สัดส่วน และร้อยละ (x̄= 67.60) สูงกว่าก่อนเรียน (x̄ = 17.89) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และมีค่า t = 38.24 เมื่อเปรียบเทียบเป็นรายด้าน พบว่า นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน (x̄= 24.76) สูงกว่าก่อนเรียน (x̄ = 7.65) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และมีค่า t = 20.42 นอกจากนี้ นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยทักษะการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ หลังเรียน (x̄ = 42.38) สูงกว่าก่อนเรียน (x̄= 16.44) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และมีค่า t = 36.41
นักเรียนมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ เรื่อง อัตราส่วน สัดส่วน และร้อยละ อยู่ในระดับมากที่สุด (x̄= 4.55) โดยเฉพาะด้านกิจกรรมการเรียนรู้ เพราะผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ และแสวงหาข้อมูลจากแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย ผู้เรียนเรียนรู้จากการปฏิบัติการแก้ปัญหาด้วยตนเอง และร่วมเรียนรู้กับผู้อื่น ครูจัดลำดับเนื้อหาและกิจกรรมได้อย่างเหมาะสมและนักเรียนสามารถสรุปความรู้ เชื่อมโยงนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
คำสำคัญ: รูปแบบการเรียนการสอน; ความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ