ภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ของชาติ เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมอันก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพและเสริมสร้างบุคลิกภาพของคนในชาติให้มีความเป็นไทย เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทำให้สามารถประกอบกิจธุระ การงาน และดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมประชาธิปไตยได้อย่างสันติสุข และเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ ประสบการณ์จากแหล่งข้อมูลสารสนเทศต่าง ๆ เพื่อพัฒนาความรู้ พัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ วิจารณ์ และสร้างสรรค์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ตลอดจนนำไปใช้ในการพัฒนาอาชีพให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังเป็นสื่อแสดงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษด้านวัฒนธรรม ประเพณี สุนทรียภาพ เป็นสมบัติล้ำค่าควรแก่การเรียนรู้ อนุรักษ์และสืบสานให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป
นอกจากนี้ทักษะภาษาไทยยังเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการศึกวิชาอื่น ๆ จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ มนุษย์จึงจำเป็นต้องใช้ทักษะในการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนเพื่อติดต่อสื่อสาร การสอนภาษาไทยให้มีประสิทธิภาพตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรนั้น จำเป็นต้องมีการฝึกฝนทั้งการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน เพื่อให้นักเรียนมีทักษะสามารถติดต่อสื่อความหมายได้ เพราะถ้าผู้เรียนใช้ภาษาไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะพูดไม่ชัด หรือเขียนไม่ถูกต้องนอกจากจะทำให้การสื่อความหมายไม่ตรงตามความต้องการแล้วยังทำให้เสียบุคลิกภาพอีกด้วย
ทักษะที่นับว่ามีความสำคัญต่อการเรียนการสอนภาษาไทย ได้แก่ ทักษะการเขียนเพราะการเขียนเป็นการถ่ายทอดการคิด เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการคิด สติปัญญา และทัศนคติสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท่ามกลางสังคมยุคแห่งข้อมูลข่าวสารเช่นปัจจุบันนี้ บุคคลจำเป็นต้องติดต่อสื่อสารกันมากขึ้น ดังนั้นทักษะการเขียนจึงจำเป็นและทวีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ เพราะการเขียนเป็นการถ่ายทอดความคิดความรู้สึกและความเข้าใจของตนเองออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อสื่อความหมายให้คนอื่นเข้าใจได้อย่างกว้างขวางและสามารถเก็บไว้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้ การเขียนที่ไม่สมบูรณ์เพราะเขียนสะกดคำผิด หรือข้อความผิด ย่อมทำให้การสื่อสารขาดประสิทธิภาพ ทั้งยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงได้ เช่น กรณีเขียนหนังสือสัญญาต่าง ๆ ไม่ถูกต้อง
ผลการศึกษาการเรียนรู้ภาษาไทยของนักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายประถม) พบว่า นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีผลการเรียนรู้ด้านทักษะการเขียนระดับปานกลาง หลังจากได้ทดสอบจากการกิจกรรมเขียนตามคำบอกคำยากควรรู้ และการเขียนเรื่องตามจินตนาการในกิจกรรมหนังสือเล่มเล็ก ประจำปีการศึกษา 2561 จากปัญหาดังกล่าวการที่ผู้เรียนจะเกิดทักษะการเขียนสะกดคำอย่างมีประสิทธิภาพนั้นต้องได้รับการฝึกฝนและปรับปรุง แก้ไขความบกพร่องต่าง ๆ อยู่เสมอ ครูภาษาไทยจำเป็นต้องปรับปรุงลักษณะการจัดการเรียนการสอน และเลือกใช้สื่อเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาทักษะทางภาษา ซึ่งมีผู้เสนอแนะกิจกรรมการเรียนรู้ที่น่าสนใจวิธีหนึ่ง คือ การสอนโดยใช้แบบฝึก
จากสภาพปัญหาและแนวคิดดังกล่าวจึงทำให้ผู้วิจัยสนใจที่จะพัฒนาชุดแบบฝึกทักษะการเขียนสะกดคำ เพื่อเป็นสื่อในการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายประถม) สำหรับส่งเสริมให้นักเรียนได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดี สนุกสนานในการเรียนและมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น การวิจัยครั้งนี้มุ่งหมาย (1) เพื่อพัฒนาชุดแบบฝึกการเขียนสะกดคำ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 (2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนการเขียนสะกดคำ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่เรียนโดยใช้ชุดแบบฝึกการเขียนสะกดคำก่อนและหลังเรียน (3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีที่มีต่อการเรียนรู้ด้วยชุดแบบฝึกการเขียนสะกดคำที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/3 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายประถม) ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 37 คน โดยเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ ชุดแบบฝึกการเขียนสะกดคำ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นแบบปรนัย และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนต่อการเรียนด้วยชุดแบบฝึกการเขียนสะกดคำแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยปรากฏดังนี้
1. ชุดแบบฝึกการเขียนสะกดคำ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 83.81 /82.88 แสดงว่า ชุดแบบฝึกการเขียนสะกดคำที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้
2. ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนโดยใช้ชุดแบบฝึกการเขียนสะกดคำ พบว่า นักเรียนที่เรียนโดยใช้ชุดแบบฝึกการเขียนสะกดคำที่พัฒนาขึ้นมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
3. นักเรียนที่เรียนโดยใช้ชุดแบบฝึกการเขียนสะกดคำมีความพึงพอใจโดยรวมอยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.65