ชื่องานวิจัย การพัฒนากลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา โรงเรียนพิกุลทอง
ผู้ทำวิจัย นายธนาดุลย์ รถเพ็ชร
ผู้อำนวยการโรงเรียนโรงเรียนพิกุลทอง
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 7
ปีที่พิมพ์งานวิจัย 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยและพัฒนากลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา โดยใช้การวิจัยปฏิบัติการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อพัฒนา กลยุทธ์ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา 2) เพื่อปฏิบัติการและศึกษาผลปฏิบัติการใช้กลยุทธ์ตามวงจรของเคมมิสและแม็คทักการ์ท 3) เพื่อประเมินกลยุทธ์ 4) เพื่อศึกษาขวัญกำลังใจของครูและความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้อง
การดำเนินการวิจัยแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1 การสร้างกลยุทธ์ ระยะที่ 2 การนำ กลยุทธ์ไปใช้โดยใช้วงจรการปฏิบัติการตามแนวคิดของ Kemmis and Mc Taggart ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ การวางแผน (Plan) การปฏิบัติ (Action) การสังเกต (Obsevation) และการสะท้อนผลการปฏิบัติการ (Reflection) ระยะที่ 3 การประเมินกลยุทธ์ และระยะที่ 4 การศึกษาขวัญกำลังใจของครูและความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบประเมินโครงการ แบบสอบถามการ มีส่วนร่วม แบบสอบถามขวัญกำลังใจและแบบสอบถามความพึงพอใจ เก็บรวบรวมข้อมูลกับผู้เกี่ยวข้อง คือ ครู จำนวน 26 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 220 คน ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 220 คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 4 คน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติพื้นฐานคือ ค่าเฉลี่ย และ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา
สรุปผลการวิจัย
การพัฒนากลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา สรุปผลได้ดังนี้
1. กลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา ประกอบด้วย 4 กลยุทธ์ คือ 1) การเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ 2) การสร้างศรัทธา 3) การสร้างความสัมพันธ์ และ 4) ความเป็นหุ้นส่วน
2. การประเมินผลการดำเนินโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วม จำนวน 24 โครงการ พบว่าผลการดำเนินโครงการในวงจรที่ 1 ทั้ง 24 โครงการ มีค่าเฉลี่ยของผลการประเมินอยู่ในระดับมาก (3.51) ขึ้นไป และในวงจรที่ 2 ทั้ง 24 โครงการ มีค่าเฉลี่ยของผลการประเมินอยู่ในระดับมาก (3.51) ขึ้นไป และมีค่าเฉลี่ยมากกว่า วงจรที่ 1 ทุกโครงการ
3. ผลการศึกษาการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการในด้านต่างๆ ของ ครู ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานก่อนและหลังการใช้กลยุทธ์ที่พัฒนาขึ้นพบว่าหลังการใช้กลยุทธ์ ครู ผู้ปกครอง ผู้ทรงคุณวุฒิและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการในด้านต่างๆ มากกว่าก่อนการใช้กลยุทธ์ และมีค่าเฉลี่ยของผลการประเมินในระดับมาก (3.51) ขึ้นไปทุกรายการ
4. การเปรียบเทียบการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา ปีการศึกษา 2560 และ ปี 2561 (ที่ใช้ผลการประเมินของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 7) พบว่า โรงเรียนมีผลการประเมินการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาปีการศึกษา 2562 ดีขึ้นกว่า ปีการศึกษา 2561 ทุกองค์ประกอบและทุกตัวบ่งชี้
5. ผลการศึกษาขวัญกำลังใจของครูในการดำเนินการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาหลังการใช้กลยุทธ์ที่พัฒนาขึ้น พบว่า ครูมีขวัญกำลังใจในระดับมาก (3.51) ขึ้นไป ในทุกรายการ
6. ผลการศึกษาความพึงพอใจของผู้ปกครอง ผู้ทรงคุณวุฒิและคณะกรรมการสถานศึกษา ขั้นพื้นฐานที่มีต่อคุณภาพการบริหารและการจัดการ คุณภาพการเรียนการสอนและคุณภาพของนักเรียน หลังการใช้กลยุทธ์ที่พัฒนาขึ้น พบว่า ผู้ปกครอง ผู้ทรงคุณวุฒิและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีความพึงพอใจในระดับมาก (3.51) ขึ้นไป ทุกด้าน