ชื่อเรื่อง การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบลงมือปฏิบัติกระทำ (Active learning)
เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3
โรงเรียนอนุบาลเชิงเนิน
ผู้วิจัย นางวิลาวัลย์ ประสุวรรณ
ปีที่วิจัย 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อหาประสิทธิภาพของกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
แบบลงมือปฏิบัติกระทำ (Active learning) เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนอนุบาลเชิงเนินให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80
และ 2) เพื่อเปรียบเทียบความพร้อมพื้นฐานด้านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ก่อนและหลัง
การจัดประสบการณ์ โดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบลงมือปฏิบัติกระทำ (Active learning) เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนอนุบาลเชิงเนิน การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi - Experimental Design) ที่มีกลุ่มทดลอง
กลุ่มเดียวทำการประเมินก่อนเรียนและหลังเรียน (One Group Pretest Posttest Design)
ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในวิจัยครั้งนี้ เป็นเด็กชาย - หญิง ที่มีอายุระหว่าง 5 - 6 ปี กำลังเรียนอยู่
ในระดับชั้นอนุบาลปีที่ 3/2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนอนุบาลเชิงเนิน อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง สังกัดกองการศึกษา เทศบาลตำบลเชิงเนิน จำนวน 1 ห้องเรียน จำนวน 30 คน
ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยสุ่มจากห้องเรียนที่จัดกลุ่มคละความสามารถโดยการจับสลากมา 1 ห้องจาก 3 ห้อง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
ได้แก่ 1) กิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบลงมือปฏิบัติกระทำ (Active learning) เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนอนุบาลเชิงเนิน จำนวน 40 กิจกรรม 2) คู่มือการจัดประสบการณ์ โดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบลงมือปฏิบัติกระทำ (Active learning) เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3
โรงเรียนอนุบาลเชิงเนินจำนวน 2 เล่ม และ 3) แบบประเมินความพร้อมพื้นฐานด้านกระบวนการ
ทางวิทยาศาสตร์ จำนวน 4 ชุด ชุดละ 5 ข้อ รวมทั้งหมด 20 ข้อ
การวิเคราะห์ข้อมูล ผู้วิจัยวิเคราะห์โดยการคำนวณหาประสิทธิภาพ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ
ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการทดสอบความแตกต่างของคะแนนก่อนและหลังการทดลอง
โดยใช้ค่าที (t - test)
ผลการวิจัยพบว่า
1. กิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบลงมือปฏิบัติกระทำ (Active learning)
เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนอนุบาลเชิงเนิน
มีประสิทธิภาพ เท่ากับ 86.14/86.00 สูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนดไว้
2. เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนอนุบาลเชิงเนินที่ได้รับการจัดประสบการณ์โดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบลงมือปฏิบัติกระทำ (Active learning) เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนอนุบาลเชิงเนินโดยภาพรวม
และจำแนกรายด้าน ได้แก่ ทักษะการสังเกต ทักษะการวัด ทักษะการจำแนกประเภท
และทักษะการลงความเห็น หลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ที่ระดับ .05