ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้สู่วิถีความพอเพียงตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจ
พอเพียงของครูและผู้เรียนโรงเรียนบ้านคลองน้ำใส อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว
ผู้วิจัย นายหงษ์คำ หาบุญมี
สถานศึกษา โรงเรียนบ้านคลองน้ำใส อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว
ปีที่วิจัย 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้สู่วิถี ความพอเพียงตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของครูและผู้เรียนโรงเรียนบ้านคลองน้ำใส อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว 2) เพื่อออกแบบและสร้างรูปแบบการจัดการเรียนรู้สู่ความพอเพียง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของครูและผู้เรียน โรงเรียนบ้านคลองน้ำใส อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้สู่ความพอเพียง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของครูและผู้เรียน โรงเรียนบ้านคลองน้ำใส อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้วและ 4) เพื่อประเมินผลการทดลองใช้รูปแบบและขยายผลไปยังสถานศึกษาอื่นที่เป็นเครือข่ายการจัด การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ กำหนดขนาด กลุ่มตัวอย่างโดยเปิดตารางของเครซซี่และมอร์แกน (Krejcie and Morgan) และทำการสุ่มตัวอย่าง แบบเจาะจง ประกอบด้วย ครูจำนวน 13 คน กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน ผู้เรียน จำนวน 150 คน และผู้ปกครอง จำนวน 150 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย รูปแบบ การจัดการเรียนรู้สู่วิถีความพอเพียงตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แบบวิเคราะห์เอกสาร แบบสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการเรียนรู้สู่วิถี ความพอเพียง แบบสอบถามความพึงพอใจ แบบประเมินวิถีความพอเพียง และแบบทดสอบความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์เนื้อหา และทดสอบความแตกต่างของคะแนนก่อนและหลังการอบรมด้วย t-test (Dependent Samples)
ผลการวิจัย พบว่า
1. สภาพการจัดการเรียนการสอนของครูยังไม่มีการบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขาดการปลูกฝังคุณลักษณะที่พึงประสงค์ เช่น การใฝ่เรียน ใฝ่รู้ การคิดวิเคราะห์ การใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา ความมีระเบียบวินัย ความซื่อสัตย์ ไม่สามารถเผชิญและแก้ปัญหา ในชีวิตจริงของตนเองได้
2. รูปแบบการจัดการเรียนรู้สู่วิถีความพอเพียงตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของครูและผู้เรียนที่สร้างขึ้น เรียกว่า COLNER Model ประกอบด้วย การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา (Curriculum : C) การพัฒนาองค์กร (Organization : O) การจัดการเรียนการสอน (Learning : L) การขยายผลและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย (Network : N) การประเมินผล (Evaluation : E) และการรายงานและเผยแพร่ผลงาน (Report : R) และรูปแบบการจัดการเรียนรู้สู่วิถีความพอเพียงตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของครูและผู้เรียน มีประสิทธิภาพและความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.55)
3. หลังจากทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้สู่วิถีความพอเพียงตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของครูและผู้เรียน สามารถทำให้ครูและผู้เรียนโรงเรียนบ้านคลองน้ำใส มีวิถี ความพอเพียงอยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.58) และมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้สู่วิถีความพอเพียงตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.72)
4. การอบรมเพื่อขยายผลสู่โรงเรียนเครือข่าย โดยการวิเคราะห์เปรียบเทียบคะแนน การทดสอบความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ก่อนและหลังการอบรม พบว่า ก่อนการอบรมได้คะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 5.85 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน หลังการอบรมได้คะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 8.11 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน แสดงว่าหลังการอบรมมีคะแนนสูงกว่าก่อนการอบรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01