การประเมินโครงการอนุรักษ์ผลิตภัณฑ์และวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านเพื่อการเรียนรู้
โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น โรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
ผู้วิจัย กรกมล เพิ่มผล
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี
อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี สังกัดกองการศึกษา สำนักงานเทศบาล
เมืองปทุมธานี
ปีที่พิมพ์ 2562
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการอนุรักษ์ผลิตภัณฑ์และวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านเพื่อการเรียนรู้ โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น โรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อประเมินปฏิกิริยาตอบสนองของผู้เข้ารับการฝึกอบรม 2) เพื่อประเมินการเรียนรู้ของครูผู้เข้ารับการฝึกอบรม 3) เพื่อประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติงานหลังการฝึกอบรมของผู้เข้ารับการฝึกอบรม และ 4) เพื่อประเมินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อองค์กรของผู้เข้ารับการฝึกอบรม แหล่งข้อมูลที่ใช้ในการประเมินโครงการครั้งนี้ ได้แก่ ครูผู้สอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ จำนวน 20 คน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 6 ที่เรียนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี จำนวน 224 คน ได้มาจากการกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตาราง Krejcie. และ Morgan จากนักเรียนทั้งหมดจำนวน 538 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ ได้แก่ 1) แบบสอบถามความพึงพอใจของผู้เข้ารับการฝึกอบรม 2) แบบสอบถามด้านความรู้ความเข้าใจของผู้เข้ารับการฝึกอบรม 3) แบบสอบถามความคิดเห็นของผู้เข้ารับการฝึกอบรม 4) แบบสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้เข้ารับการฝึกอบรม 5) แบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อโครงการ และ 6) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อโครงการ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
สรุปผลการประเมิน พบว่า
1. ผลการประเมินปฏิกิริยาตอบสนองของผู้เข้ารับการฝึกอบรม พบว่า ความพึงพอใจของครูผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่มีต่อโครงการอนุรักษ์ผลิตภัณฑ์และวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านเพื่อการเรียนรู้ โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น โรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย = 4.75, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.43)
2. ผลการประเมินการเรียนรู้ของครูผู้เข้ารับการฝึกอบรม พบว่า ครูผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ผลิตภัณฑ์และวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านเพื่อการเรียนรู้ โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น จังหวัดปทุมธานี มีค่าเฉลี่ยในภาพรวมอยู่ในระดับดี (ค่าเฉลี่ย = 0.78 , ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.41)
3. ผลการประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติงานหลังการฝึกอบรมของผู้เข้ารับการฝึกอบรม
3.1 ผลการสอบถามการนำความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปใช้ในการปฏิบัติงาน
พบว่า ครูผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีการนำความรู้ภายหลังจากได้รับการฝึกอบรมไปใช้ในการปฏิบัติงาน โดยรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย = 4.78 , ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.42)
3.2 ผลการสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของครูผู้เข้ารับการฝึกอบรม พบว่า โดยเฉลี่ย ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีการเปลี่ยนแปลงการกระทำในทางที่ดีขึ้น โดยเฉลี่ยร้อยละ 100 ครูผู้เข้ารับการฝึกอบรม นำความรู้ที่ได้ไปจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนได้รู้คุณค่าและสืบสานการอนุรักษ์ผลิตภัณฑ์และวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้าน โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีความกระตือรือร้นในสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้กับผู้เรียน
4. ผลการประเมินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อองค์กรของผู้เข้ารับการฝึกอบรม
4.1 ผลการสอบถามความคิดเห็นด้านประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ ของครูผู้เข้าอบรม พบว่า ระดับความคิดเห็นด้านประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย = 4.72, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.45)
4.2 ผลการสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการอนุรักษ์ผลิตภัณฑ์และวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้าน จังหวัดปทุมธานี พบว่า นักเรียนมีความความคิดเห็นโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย = 4.70, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.49)
4.3 ผลการสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการอนุรักษ์ผลิตภัณฑ์และวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้าน พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจโดยรวม อยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย = 4.74 , ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.44)