ชื่อผู้วิจัย นางสนธยา สาขี
ชื่อสถานศึกษา โรงเรียนเทศบาล 7 รถไฟสงเคราะห์ เทศบาลนครอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
ปีที่ทำการวิจัย 2561
บทคัดย่อ
รายงานการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาไทย เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ตามแนวคิดทฤษฎีของกิลฟอร์ด ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีวัตถุประสงค์เพื่อ พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นความคิดสร้างสรรค์ และศึกษาความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มีคุณภาพ 80/80 ซึ่งกลุ่มประชากรและกลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3โรงเรียนเทศบาล 7 รถไฟสงเคราะห์ ที่กำลังเรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 34 คน โดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการของ Kemmis and McTaggart ซึ่งรูปแบบการวิจัยมี 4 ขั้นตอน คือ ขั้นวางแผน (Planning) ขั้นปฏิบัติการ (Action) ขั้นสังเกตการณ์ (Observe) ขั้นสะท้อนผล (Reflecting) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นความคิดสร้างสรรค์ จำนวน 15 แผน 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลได้แก่ แบบสังเกตพฤติกรรมการสอนของครู แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน แบบบันทึกเหตุการณ์ขณะทำการสอนของครู แบบแสดงความคิดเห็นของนักเรียนและแบบทดสอบย่อยท้ายวงจร
3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ได้แก่ แบบทดสอบวัดความคิดสร้างสรรค์ ที่เน้นทักษะการคิดทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ความคิดริเริ่ม ความคิดคล่องแคล่ว ความคิดยืดหยุ่นและความคิดละเอียดลออ ซึ่งเป็นข้อสอบแบบอัตนัยไม่จำกัดคำตอบ จำนวน 4 ชุด วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ค่าเฉลี่ย ร้อยละและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นความคิดสร้างสรรค์ มีขั้นตอนการจัดกิจกรรม 3 ขั้น
ดังนี้ 1) ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน 2) ขั้นสอน (ขั้นพัฒนาความคิดสร้างสรรค์) ประกอบด้วย ความคิดริเริ่ม ความคิดคล่องแคล่ว ความคิดยืดหยุ่น ความคิดละเอียดลออและ 3) ขั้นสรุป
2. การพัฒนาความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
ตามแนวคิดทฤษฎีของกิลฟอร์ด ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 พบว่ามีคะแนนเฉลี่ย
ร้อยละ 83.13 และมีนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 29 คน ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด 34 คน คิดเป็นร้อยละ 85.29 ผ่านเกณฑ์ 80/80 ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย