ชื่อเรื่อง การพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนคลองฉนวนวิทยา
โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม
ชื่อผู้วิจัย นางพรทิพย์ นุกูลกิจ
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย สุราษฎร์ธานี
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 11
ปีที่วิจัย ปีการศึกษา 2561 - 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง การพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนคลองฉนวนวิทยา โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ1) ศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการของการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน 2) พัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน 3) ศึกษาผลการทดลองใช้ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และ 4) ประเมินและปรับปรุงระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน กลุ่มผู้เกี่ยวข้องในการวิจัย ได้แก่ ผู้บริหาร ครู นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาพื้นฐานและผู้ปกครอง ขั้นตอนการดำเนินการวิจัย 6 ขั้นตอน 3 รอบ คือ คือ R1D1, R2D2 และ R3D3 ดังนี้คือ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการของการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน (R1) ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน (D1) ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนรอบที่ 1 (R2) ขั้นตอนที่ 4 การประเมินผลและปรับปรุงระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนรอบที่ 1 (D2) ขั้นตอนที่ 5 การทดลองใช้ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนรอบที่ 2 (R3) และ ขั้นตอนที่ 6 การประเมินผลและปรับปรุงระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนรอบที่ 2 (D3)
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. สภาพปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการของการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน
จากการศึกษาสภาพปัจจุบันโดยการทบทวนแนวคิด ทฤษฎี เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน การพัฒนาระบบการประเมินเชิงปฏิบัติการ การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม พบว่า ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนมีเป้าหมายสําคัญ คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียน โดยมุ่งหวังว่าผู้เรียนจะเติบโตอย่างมีคุณภาพรอบด้าน ทั้งทางด้านสติปัญญา ความสามารถ คุณธรรมจริยธรรม และด้านการดํารงชีวิตอย่างเป็นสุขในสังคม พร้อมด้วยสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี โดยการดําเนินงานตามระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน จําเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและความพร้อมของบุคลากรในโรงเรียน อีกทั้งจะต้องประสานความร่วมมือกับผู้ปกครองและหน่วยงานอื่นภายนอกอย่างใกล้ชิด เพื่อประสิทธิภาพในการดําเนินงาน การพัฒนาการดําเนินงานตามระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ตามกรอบแนวทางของสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาศัยการจัดองค์ประกอบตามแนวคิดเชิงระบบในการมองภาพงานวิจัยให้ชัดเจนขึ้น โดยจัดในกรอบความคิดด้านปัจจัย (Input) ซึ่งได้แก่ แนวทางการดําเนินงานตามระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้บริหาร ครู นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครอง ตลอดจนบริบทของสถานศึกษา ด้านกระบวนการ (Process) ได้แก่ การพัฒนากระบวนการดําเนินงานตามระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ตามระบบที่พัฒนาขึ้น โดยใช้แนวคิดการประเมินตามสภาพจริง การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม และมีการประเมินเชิงปฏิบัติการเป็นกลไกควบคุม (Control) ผลผลิต (Output) คือ ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่พัฒนาขึ้น ส่วนข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) เป็นการตรวจสอบในแต่ละส่วน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนา นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาผลลัพธ์ (Outcomes) ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาระบบด้วย ซึ่งได้แก่ ผลที่เกิดกับผู้เรียน ครู และผู้บริหาร รวมทั้งผู้ปกครอง โดยการศึกษาแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการดูแลช่วยเหลือนักเรียน การพัฒนาระบบ การประเมินเชิงปฏิบัติการ และการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เพื่อนําไปสู่การมีส่วนร่วมในการพัฒนากระบวนการดําเนินงานตามระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาความต้องการของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและบริบทของโรงเรียน
2 ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่พัฒนาขึ้นมีสาระสําคัญสรุปได้ ดังนี้
ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่พัฒนาขึ้นมีชื่อว่า ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนแบบมีส่วนร่วม (Participative Student Support System : PSSS) พัฒนาโดยการมีส่วนร่วมของ ผู้บริหาร ครูทุกคน นักเรียน ผู้ปกครองและชุมชนประกอบด้วยระบบย่อยซึ่งดําเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นวงจร 4 ระบบ ได้แก่ ระบบวางแผน (Plan) ระบบปฏิบัติการ (Act) ระบบตรวจสอบ (Observe) และระบบสะท้อนผล (Reflect) โดยในแต่ละระบบจะมีระบบย่อยใน 4 ขั้นตอนเช่นเดียวกัน ดังนี้
2.1 ระบบวางแผน มีขั้นตอนในการดําเนินการประกอบด้วย ขั้นวางแผน โดยการจัดประชุมชี้แจงผู้เกี่ยวข้อง แต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ และร่วมกันกําหนดบทบาทหน้าที่เพื่อให้กระบวนการดําเนินงานมีประสิทธิผล ขั้นปฏิบัติการ ผู้เกี่ยวข้องร่วมกันศึกษาปัญหาของโรงเรียน กําหนดแนวทางปฏิบัติ การตรวจสอบ และการสะท้อนผลการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยยึดกรอบการดําเนินงานของสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มี 5 ขั้นตอน คือ (1) การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล (2) การคัดกรอง (3) การส่งเสริมและพัฒนา (4) การป้องกันและแก้ไขปัญหา และ (5) การส่งต่อ กําหนดเครื่องมือที่ใช้ในการปฏิบัติ ตรวจสอบ และประเมินผลการดําเนินงานการดูแลช่วยเหลือนักเรียน กําหนดระยะเวลาในการปฏิบัติ ตรวจสอบ สะท้อนผล และสรุปเป็นแผนปฏิบัติการ ขั้นตรวจสอบ ผู้เกี่ยวข้องร่วมกันตรวจสอบแผนปฏิบัติที่ร่วมกันสร้างขึ้น โดยการประเมินความเหมาะสมความเป็นไปได้ในการปฏิบัติ ขั้นสะท้อนผล ผู้เกี่ยวข้องร่วมกันนําผลที่ได้จากขั้นตรวจสอบมาปรับปรุงแก้ไขให้มีความสมบูรณ์ชัดเจนขึ้น สามารถนําไปปฏิบัติได้
2.2 ระบบปฏิบัติการ มีขั้นตอนในการดําเนินงานประกอบด้วย ขั้นวางแผนดําเนินการโดยผู้บริหารและครูที่เกี่ยวข้อง ประชุมชี้แจงทําความเข้าใจกับผู้ปกครองและนักเรียนในการดําเนินงานตามระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ครูทีมประสานและทีมทําร่วมกันวิเคราะห์มาตรฐานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน กําหนดตัวชี้วัดและเกณฑ์ สร้างเครื่องมือที่ใช้ในการดําเนินงาน ขั้นปฏิบัติการ ครูที่ปรึกษาปฏิบัติการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ผู้เรียนดูแลแก้ไขพัฒนาตนเองและเพื่อนนักเรียน ผู้ปกครองและชุมชนดูแลนักเรียนเมื่ออยู่ที่บ้านและในชุมชน พร้อมกับประสานความร่วมมือกับโรงเรียน เมื่อนักเรียนมีปัญหา ขั้นตรวจสอบ ครูที่ปรึกษาตรวจสอบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ปฏิบัติว่าเป็นไปตามแนวทางที่ร่วมกันกําหนดขึ้นหรือไม่ โดยครูที่ปรึกษาและผู้เกี่ยวข้อง ขั้นสะท้อนผล ผู้เกี่ยวข้องร่วมกันทบทวนและปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของครูที่ปรึกษา
2.3 ระบบติดตามตรวจสอบ มีขั้นตอนในการดําเนินงานประกอบด้วย ขั้นวางแผนดําเนินการโดยจัดประชุมคณะกรรมการและผู้ที่เกี่ยวข้อง เตรียมเครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ขั้นปฏิบัติการ ดําเนินการตรวจสอบการปฏิบัติของครูที่ปรึกษาและผู้เกี่ยวข้อง ในขั้นปฏิบัติการใช้แบบประเมินที่สร้างขึ้น ในขั้นตรวจสอบ กรรมการประเมินทบทวนการดําเนินงานตามระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของครูที่ปรึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้อง ในขั้นสะท้อนผล ผู้เกี่ยวข้องนําผลในขั้นตรวจสอบ ทบทวนและปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบการปฏิบัติ
2.4 ระบบสะท้อนผล มีขั้นตอนในการดําเนินการประกอบด้วย ขั้นวางแผน โดยการจัดประชุม คณะกรรมการและผู้ที่เกี่ยวข้อง นําข้อมูลที่ได้จากระบบติดตามตรวจสอบมาร่วมกันวางแผนปรับปรุงแก้ไข ขั้นปฏิบัติการ ผู้เกี่ยวข้องดําเนินการปรับปรุงแก้ไขตามข้อมูลที่ได้ แล้วจัดทําเอกสารรายงานผลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ ขั้นตรวจสอบ คณะกรรมการร่วมกันตรวจสอบความถูกต้อง เหมาะสม ครบถ้วนในกระบวนการปรับปรุง และขั้นสะท้อนผล ผู้เกี่ยวข้องร่วมกันทบทวน ปรับปรุงตามผลจากการตรวจสอบ
3. ผลการทดลองใช้ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนสรุปผลได้ ดังนี้
ในการทดลองใช้ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในรอบที่ 1 พบว่า ผลการดําเนินงานของโรงเรียนผลของการวิจัยมีค่าสูงกว่าเกณฑ์เกือบทุกตัวชี้วัด และในการทดลองใช้ระบบในรอบที่ 2 พบว่า ผลการดําเนินงานมีค่าสูงกว่าเกณฑ์ทุกตัวชี้วัด แสดงว่า ในการทดลองรอบที่ 2 ผลการดําเนินงานของโรงเรียนโดยภาพรวมพัฒนามากกว่าการทดลองใช้ระบบในรอบที่ 1 เมื่อพิจารณาผลการประเมินทบทวนระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และประเมินประสิทธิผลของระบบสรุปได้ ดังนี้
3.1 ผลการประเมินทบทวนระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ตามมาตรฐานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งมี 3 มาตรฐาน และ 14 ตัวชี้วัด พบว่า ผลการประเมินในด้านนักเรียน ด้านกระบวนการ และด้านปัจจัย ในรอบที่ 1 มีบางตัวชี้วัดไม่ผ่านเกณฑ์ ผู้วิจัยและผู้เกี่ยวข้องจึงได้พัฒนาในส่วนบกพร่อง ทำให้ผลจากการประเมินในรอบที่ 2 ผ่านเกณฑ์ทุกตัวชี้วัด
3.2 ผลการประเมินประสิทธิผลของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยใช้เกณฑ์มาตรฐานซึ่งกําหนดโดย Stufflebeam และคณะ (1981 อ้างถึงใน ศิริชัย กาญจนวาสี. 2552 : 178-180) โดยพิจารณาจากด้านความเป็นประโยชน์ ด้านความเป็นไปได้ในการปฏิบัติงานจริง ด้านความเหมาะสม ด้านความถูกต้องและความน่าเชื่อถือ และด้านผลที่เกิดขึ้นกับผู้เกี่ยวข้อง สรุปได้ว่า ประสิทธิผลของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนคลองฉนวนวิทยา ผลการวิจัยจากการทดลองใช้รอบที่ 2 โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าการทดลองใช้ในรอบที่ 1 เกือบทุกตัวชี้วัด แสดงว่า ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ผู้วิจัยและผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น มีประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้นจากการดําเนินงานในรอบที่ 2
4. ผลการประเมินและปรับปรุงระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน
ผลจากการประเมินและปรับปรุงระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในรอบที่ 1 และ 2 แล้วดําเนินการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทําให้ส่งผลในด้านต่างๆ ต่อไปนี้
4.1 ด้านการใช้ประโยชน์ของระบบ ตอบสนองต่อการความต้องการใช้ระบบการดูแล ช่วยเหลือนักเรียนของผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ซึ่งทําให้เกิดการดูแลช่วยเหลือ ส่งเสริม พัฒนา ป้องกัน และแก้ไขปัญหานักเรียน ได้รูปแบบกระบวนการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ภายใต้การมีส่วนร่วมของบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง สามารถนําไปพัฒนานักเรียนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ แล้วรายงานผลการดูแลช่วยเหลือนักเรียนไปยังผู้เกี่ยวข้องเพื่อนําผลไปใช้ประโยชน์
4.2 ด้านความเป็นไปได้ในการปฏิบัติจริง สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษา สอดคล้องกับกรอบมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียน ครูที่ปรึกษาและผู้เกี่ยวข้องสามารถนําไปปฏิบัติได้จริง เป็นที่ยอมรับของผู้บริหาร ครูนักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ผลการจัดระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนมีความคุ้มค่า
4.3 ด้านความเหมาะสม สอดคล้องกับการประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน พัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยอาศัยการวิจัยเชิงปฏิบัติการ คํานึงถึงประโยชน์ของนักเรียนเป็นหลัก ดําเนินการตามระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ด้วยความรับผิดชอบและมีจรรยาบรรณ
4.4 ด้านความถูกต้องน่าเชื่อถือ สอดคล้องกับความสําคัญและจําเป็นของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน กระบวนการดําเนินงานตามระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน แสดงด้วยแผนภาพที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย กําหนดตัวชี้วัดและเครื่องมือที่ใช้สอดคล้องกับกระบวนการดําเนินงานของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน เครื่องมือที่ใช้ในระบบการดุแลช่วยเหลือนักเรียนถูกต้อง หลากหลาย และครบถ้วน มีการกําหนดบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนไว้อย่างชัดเจน
4.5 ด้านผลที่เกิดขึ้นกับผู้เกี่ยวข้อง
4.5.1 ด้านความพึงพอใจ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน มีความพึงพอใจต่อผลการดําเนินงาน ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการพัฒนาผู้เรียน ประเมินผู้เรียนในทิศทางเดียวกัน ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นทั้งด้านนักเรียน ผู้บริหาร ครูผู้สอน ผู้ปกครองและชุมชน
4.5.2 ด้านการดูแลนักเรียน นักเรียนได้รู้จักตนเอง สามารถปรับตัวมีทักษะทางสังคมและอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข ครูผู้สอนนําผลการดําเนินงานตามระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนไปพัฒนาการจัดการเรียนรู้ ผู้บริหารโรงเรียนนําข้อมูลพื้นฐานของนักเรียนไปใช้ในการกําหนดแนวทางในการพัฒนานักเรียน หลักสูตร และคุณภาพการจัดการศึกษา นอกจากนี้ โรงเรียนได้รับการยอมรับ การสนับสนุน และการร่วมมือจากผู้ปกครอง ชุมชน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง