ชื่อเรื่อง การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยใช้บทเรียนออนไลน์ร่วมกับ
GoogleClassroom วิชาการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ ของนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสตรียะลา
ผู้วิจัย นางกันยา ตอแลมา
ปีการศึกษา 2561 - 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้ (1) เพื่อพัฒนาสื่อบทเรียนออนไลน์ วิชาการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ร่วมกับการใช้ Google classroom สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสตรียะลา ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 75/75 (2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก่อนและหลังการใช้สื่อบทเรียนออนไลน์ วิชาการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ร่วมกับการใช้ Google Classroom ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสตรียะลา (3) เพื่อศึกษาพฤติกรรมความรับผิดชอบหลังการใช้ Google Classroom ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสตรียะลา (4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยสื่อบทเรียนออนไลน์ วิชาการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ร่วมกับ Google Classroom ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสตรียะลา
ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ จำนวน 116 คน เป็นนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 โดยมีกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 15 คน การวิจัยใช้แบบแผนการวิจัยแบบกลุ่มทดลองกลุ่มเดียว วัดผลก่อนและหลังการทดลอง (The One-Group Pretest-Posttest Design) เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/6 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ โดยใช้บทเรียนออนไลน์ร่วมกับการใช้ Google classroom บทเรียนออนไลน์ วิชาการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ Google classroom แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลัง แบบบันทึกพฤติกรรมความรับผิดชอบหลังการใช้ Google Classroom แบบสอบถามความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยสื่อบทเรียนออนไลน์ วิชาการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ร่วมกับการใช้ Google Classroom วิเคราะห์ข้อมูลด้วย ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ประสิทธิภาพ (E1/E2) การทดสอบแบบกลุ่มตัวอย่างไม่เป็นอิสระต่อกัน
ผลการศึกษาพบว่า
ในการพัฒนาบทเรียนออนไลน์ วิชา การออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสตรียะลา ผู้รายงานได้นำคะแนนผลการประเมินระหว่างเรียนทั้ง 4 หน่วย มาหาประสิทธิภาพของกระบวนการ (E1) และใช้คะแนนจากการทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์หลังเรียนมาหาประสิทธิภาพของผลลัพธ์ (E2) แล้วนำผลที่ได้ไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน 75/75 ปรากฏผลดังนี้ แบบ 1:1 พบว่ามีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 67.92/66.67 แบบ 1:10 พบว่ามีค่าประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 75.42/72.78 แบบภาคสนามพบว่ามีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 84.06/79.29 และนำไปใช้จริง มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 84.06/80.33 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ 75/75
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก่อนและหลังการใช้สื่อบทเรียนออนไลน์ วิชาการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ร่วมกับการใช้ Google Classroom ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/6 โรงเรียนสตรียะลา ก่อนเรียนมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 9.20 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 1.6 ส่วนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 16.07 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 9.2 และเมื่อเปรียบเทียบกันพบว่าคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน พบว่า หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
พฤติกรรมความรับผิดชอบ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/6 โรงเรียนสตรียะลา หลังการใช้ Google Classroom จากการส่งงานทั้งหมด 14 ครั้ง ผลการประเมินพฤติกรรมที่อยู่ในระดับดีมาก มีจำนวน 14 คน คือส่งงานอย่างน้อย 12 ครั้ง และระดับปานกลาง มีจำนวน 1 คน คือส่งงานอย่างน้อย 6 ครั้ง โดยหลังจากใช้ Google Classroom ทำให้นักเรียนมีพฤติกรรมความรับผิดชอบในการส่งงานดีขึ้น ตรงต่อเวลา และมีความกระตือรือร้นอีกด้วย
นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนรู้โดยใช้สื่อบทเรียนออนไลน์ร่วมกับ Google classroom วิชาการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/6 โรงเรียนสตรียะลา ภาพรวมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.28 โดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ ด้านเนื้อหา ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.34 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.07 รองลงมาคือ ด้านประโยชน์และการนำไปใช้ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.33 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.12 และด้านด้านการออกแบบและการจัดรูปแบบเว็บไซต์ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.17 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.07 ตามลำดับ
ด้านเนื้อหา โดยประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ ช่วยให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.60 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.51 รองลงมาคือ ความสอดคล้องและตรงกับความต้องการ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.33 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.49 และมีความเข้าใจด้านการเรียนเป็นอย่างดีมีค่าเฉลี่ยเท่ากันกับการจัดลำดับเนื้อหาเป็นหมวดหมู่ ง่ายต่อการค้นหาและทำความเข้าใจ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.33 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.62 ตามลำดับ
ด้านประโยชน์และการนำไปใช้ โดยประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ เนื้อหามีประโยชน์ต่อผู้ใช้งาน และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.53 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.52 รองลงมาคือ เป็นแหล่งข้อมูลที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.47 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.64 และสามารถนำไปใช้เป็นแหล่งอ้างอิงให้กับงานชิ้นอื่นได้ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.20 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.77 ตามลำดับ
ด้านการออกแบบและการจัดรูปแบบเว็บไซต์ โดยประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ ขนาดตัวอักษร และรูปแบบตัวอักษร มีความสวยงามและอ่านได้ง่าย มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.20 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.56 รองลงมาคือ การจัดรูปแบบในเว็บไซต์ง่ายต่อการอ่านและการใช้งานมีค่าเฉลี่ยเท่ากันกับประเด็นสีสันในการออกแบบเว็บไซต์มีความเหมาะสม มีค่าเฉลี่ย 4.20 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.68 ตามลำดับ
คำสำคัญ: บทเรียนออนไลน์ร่วมกับ Google Classroom