บทคัดย่อ
นันธิยา ด้วงน้อย (2562). การศึกษาและแก้ไขข้อบกพร่องทางการเรียน เรื่อง สมบัติของเลขยกกำลัง
สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยใช้วิธีการสอนซ่อมเสริม.
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาข้อบกพร่องในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์และสอนซ่อมเสริมเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง สมบัติของเลขยกกำลัง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/7 โรงเรียนชัยนาทพิทยาคม ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 โดยนักเรียนแต่ละคนในห้องมีความสามารถทางการเรียนคณิตศาสตร์ในระดับสูง ปานกลาง และต่ำคละกัน แล้วทำการคัดเลือกนักเรียนที่มีข้อบกพร่องทางการเรียน เรื่อง สมบัติของเลขยกกำลังจากห้องเรียนดังกล่าว โดยใช้แบบทดสอบย่อยหลังการเรียนปกติ จำนวน 4 หน่วย ทั้งนี้นักเรียนที่มีข้อบกพร่องจากการทำแบบทดสอบย่อยหลังการเรียนปกติ อาจบกพร่องมากกว่า 1 ด้าน ซึ่งได้กลุ่มเป้าหมายมีจำนวนดังต่อไปนี้
หน่วยที่ 1 เรื่องความหมายของเลขยกกำลัง จำนวน 3 คน
หน่วยที่ 2 เรื่องสมบัติการคูณเลขยกกำลัง จำนวน 6 คน
หน่วยที่ 3 เรื่องสมบัติการหารเลขยกกำลัง จำนวน 5 คน
หน่วยที่ 4 เรื่องการเขียนจำนวนในรูปสัญกรณ์วิทยาศาสตร์ จำนวน 4 คน
ผู้วิจัยทำการสอนซ่อมเสริมนักเรียนที่มีข้อบกพร่องทางการเรียน เรื่อง สมบัติของเลขยกกำลัง ตามผลที่ได้รับจากแบบทดสอบย่อยหลังการเรียนปกติ โดยใช้แผนการสอนซ่อมเสริมทีละหน่วย เมื่อนักเรียนได้รับการสอนซ่อมเสริมหน่วยใดเสร็จสิ้นแล้วผู้วิจัยนำแบบทดสอบย่อยหลังการเรียนซ่อมเสริมของหน่วยนั้นไปทดสอบกับนักเรียนเพื่อศึกษาผลการซ่อมเสริมในแต่ละหน่วย
ผลการวิจัยปรากฏว่า จากการศึกษาข้อบกพร่องทางการเรียน เรื่อง สมบัติของเลขยกกำลัง พบว่านักเรียนมีข้อบกพร่องที่แตกต่างกันไปตามเนื้อหาและจุดประสงค์การเรียนรู้ และจากการแก้ไขข้อบกพร่องทางการเรียน เรื่อง สมบัติของเลขยกกำลัง พบว่าคะแนนที่ได้จากการทำแบบทดสอบย่อยหลังการเรียนซ่อมเสริมในแต่ละหน่วยสูงกว่าคะแนนที่ได้จากการทดสอบด้วยแบบทดสอบหลังการเรียนปกติ สามารถกล่าวได้ว่านักเรียนที่มีข้อบกพร่องทางการเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผ่านเกณฑ์ 50% เป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนนักเรียนที่มีข้อบกพร่อง