รูปแบบการจัดการศึกษาแบบบูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทางเลือกอีกรูปแบบหนึ่งที่มีความเหมาะสมกับสังคมไทยในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะรูปแบบดังกล่าวโรงเรียนสามารถจัดการศึกษาให้นักเรียนได้เรียนรู้แบบบูรณาการทั้งในกลุ่มสาระการเรียนรู้ และต่างกลุ่มได้เรียนรู้จากสภาพจริง และสอดคล้องกับการดำเนินชีวิต การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) ศึกษาองค์ประกอบรูปแบบการจัด
การศึกษาแบบบูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองเมืองพล 2) เพื่อนำเสนอรูปแบบการจัดการศึกษาแบบบูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองเมืองพล กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นไปตามกิจกรรมและลำดับขั้นตอนของการวิจัย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษารายกรณี ได้แก่บุคลากรในโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองเมืองพล ประกอบด้วย ผู้บริหารโรงเรียน ครู และประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียน จำนวน 76 คน จาก 1 โรงเรียน 2) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ใน
การตรวจสอบรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบบูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองเมืองพล ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิ
ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ด้านการสอนหรือเป็นนักวิชาการด้านการบริหารการศึกษา หรือผู้บริหารการศึกษา จำนวน 5 คน และกลุ่มที่ 3 คือ ครู ผู้ปกครอง และนักเรียนโรงเรียนเทศบาลพลประชานุกูล จำนวน 176 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แบบประเมินเพื่อตรวจสอบความสอดคล้อง (IOC) องค์ประกอบของรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อประเมินรูปแบบแบบสอบถามความคิดเห็น แบบประเมินความพึงพอใจและแบบสัมภาษณ์ แบบมีโครงสร้าง ลำดับขั้นตอนการวิจัยแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ 1) ร่างรูปแบบ 2) ตรวจสอบรูปแบบ 3) ประเมินรูปแบบ และ 4) ทดลองใช้รูปแบบสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยปรากฏดังนี้
1. การจัดการศึกษาโดยบูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองเมืองพล จะจัดได้ดีเมื่อมีองค์ประกอบ 2 ส่วน ส่วนแรก ได้แก่ องค์ประกอบของรูปแบบที่นำมาใช้ในการจัดการศึกษา ประกอบด้วย หลักการ จุดมุ่งหมาย การจัดองค์การ การดำเนินการ ตัวชี้วัดความสำเร็จ การนำรูปแบบไปใช้ และเงื่อนไขความสำเร็จ และส่วนที่ 2 ได้แก่ องค์ประกอบด้านการจัดการศึกษา ประกอบด้วย การบริหารและจัดการ การปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา การจัดกระบวนการเรียนการสอนตามหลักสูตรสถานศึกษา การจัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการจัดการเรียนรู้ การมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การนิเทศ ติดตาม ประเมินผลและรายงานผลการประชาสัมพันธ์ และการสร้างเครือข่าย และคุณภาพนักเรียนตามลักษณะความมีชีวิตพอเพียง
2. รูปแบบที่จะนำไปสู่ประสิทธิผลในการจัดการศึกษามีลักษณะดังนี้ 1) หลักการจัดต้องยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มียุทธศาสตร์ที่อยู่บนพื้นฐานการรู้จักตนเอง การช่วยเหลือตนเอง การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และการสร้างเครือข่าย หลักความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ภายใต้เงื่อนไขการมีความรู้และคุณธรรม สอดคล้องกับภูมิสังคม และโรงเรียนต้อง เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) 2) จุดมุ่งหมาย เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปอย่างมีมาตรฐานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ส่งผลสู่การดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของผู้เรียน ผู้บริหารโรงเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน 3) การจัดองค์การ ยึดหลัก การมีส่วนร่วม และเน้นการทำงานเป็นทีม 4) การดำเนินการ มีดังนี้ การบริหารและจัดการศึกษา การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา การจัดการเรียนการสอน การจัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อม การนิเทศ ติดตาม ประเมินผลและรายงานผล และการประชาสัมพันธ์และการสร้างเครือข่าย 5) ตัวชี้วัดความสำเร็จ ได้แก่ โครงสร้างการบริหาร แผนปฏิบัติการ หลักสูตรสถานศึกษาแผนการจัดการเรียนรู้ จำนวนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน จำนวนแหล่งเรียนรู้ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน และรายงานการประเมินตนเอง 6) การนำรูปแบบไปใช้โรงเรียน มียุทธศาสตร์ ขั้นตอนวิธีการอย่างเป็นระบบ ดำเนินการตามขั้นตอน คือ ขั้นเตรียมการ ขั้นดำเนินการ ขั้นติดตาม แนะนำ และขั้นประเมินผล รายงานผลและขยายผล 7) เงื่อนไขความสำเร็จ ได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียน ครู และนักเรียนต้องมีความรู้ ตระหนัก และเห็นความสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีคุณธรรม จริยธรรม ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ผู้บริหารโรงเรียนต้องมีความรู้ ความสามารถในการบริหารและจัดการศึกษา
โดยมุ่งประโยชน์สูงสุดที่นักเรียน และให้ความสำคัญกับชุมชน
โดยสรุป การจัดการศึกษาแบบบูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองเมืองพลมีความเหมาะสมสำหรับนำไปใช้จัดการศึกษาในโรงเรียน เพราะมีองค์ประกอบและการดำเนินการที่เหมาะสมกับบริบทของ แต่ละโรงเรียน ส่งผลให้นักเรียนมีคุณลักษณะความมีชีวิตพอเพียงอย่างยั่งยืน คือมี ความพอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวภายใต้เงื่อนไขการมีความรู้ คู่คุณธรรม