ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบความร่วมมือภาคีเครือข่าย เพื่อการบริหารจัดการ
โรงเรียนวัดโบสถ์ ปีการศึกษา 2561
ผู้วิจัย ทูลใจ ศรีพรหม ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโบสถ์
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้ เป็นการพัฒนารูปแบบความร่วมมือภาคีเครือข่าย เพื่อการบริหารจัดการ โรงเรียนวัดโบสถ์ ปีการศึกษา 2561 โดยใช้กรอบการวิจัยและพัฒนา (Research & Development: R&D) ซึ่งกำหนดวัตถุประสงค์ตามขั้นตอนของการศึกษา 4 ข้อ ได้แก่ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบัน และความต้องการในการพัฒนารูปแบบความร่วมมือภาคีเครือข่ายเพื่อการบริหารจัดการ โรงเรียนวัดโบสถ์ ปีการศึกษา 2561 2) เพื่อสร้างรูปแบบความร่วมมือภาคีเครือข่ายเพื่อการบริหารจัดการ โรงเรียนวัดโบสถ์ ปีการศึกษา 2561 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบความร่วมมือภาคีเครือข่ายเพื่อการบริหารจัดการ โรงเรียนวัดโบสถ์ ปีการศึกษา 2561 และ 4) เพื่อประเมินรูปแบบความร่วมมือภาคีเครือข่ายเพื่อการบริหารจัดการ โรงเรียนวัดโบสถ์ ปีการศึกษา 2561 ผลการวิจัย พบว่า
1. โรงเรียนวัดโบสถ์ เป็นโรงเรียนประถมประจำอำเภอขนาดใหญ่ ที่จัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลที่เป็นความคาดหวังของผู้ปกครองและสังคม ประกอบกับเป็นโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนด้านความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาทั้งภายในและภายนอกอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงมีความต้องการจำเป็นในการพัฒนารูปแบบความร่วมมือภาคีเครือข่ายเพื่อการบริหารจัดการ โรงเรียนวัดโบสถ์ และผลจากการสอบถามความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง พบว่า โรงเรียนวัดโบสถ์ มีสภาพปัจจุบัน และความต้องการในการพัฒนารูปแบบในระดับมาก
2. รูปแบบความร่วมมือภาคีเครือข่ายเพื่อการบริหารจัดการ โรงเรียนวัดโบสถ์ ปีการศึกษา 2561 เป็นรูปแบบความร่วมมือของภาคีเครือข่ายในระดับต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน โดยมี 6 องค์ประกอบ ดังนี้ หลักการ วัตถุประสงค์ โครงสร้างการดำเนินการ แนวทางการนำรูปแบบ ไปใช้ คุณภาพของรูปแบบ และปัจจัยความสำเร็จ
2.1 หลักการ : การประสานความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการจัดการศึกษา เครือข่ายภายในและเครือข่ายภายนอกสถานศึกษา ประกอบด้วย เครือข่ายครู เครือข่ายผู้ปกครอง เครือข่ายคณะกรรมการสถานศึกษา และเครือข่ายหน่วยงานต่างๆ เข้ามามีบทบาทในการร่วมวางแผน การดำเนินงาน การติดตามตรวจสอบการดำเนินการ และการสะท้อนผลเพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามมาตรฐานการศึกษา ให้เป็นไปตามความคาดหวังของสถานศึกษา ตามแนวคิดการผนึกกำลัง (synergy) ทฤษฎีการแลกเปลี่ยน (exchange theory) และหลักการบริหารแบบมีส่วนร่วม (participative management)
2.2 วัตถุประสงค์ : เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยเน้นความร่วมมือของภาคีเครือข่าย
2.3 โครงสร้างการดำเนินการ :
2.4 แนวทางการนำรูปแบบไปใช้ :
รูปแบบความร่วมมือภาคีเครือข่ายเพื่อการบริหารจัดการ โรงเรียนวัดโบสถ์ เป็นรูปแบบความร่วมมือในการบริหารจัดการ เพื่อดำเนินงานพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา ตามตรรกะของการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน กล่าวคือ การบริหารจัดการสถานศึกษา จะเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียน ทั้งในส่วนผลสัมฤทธิ์ทางวิชากร และคุณลักษณะที่ พึงประสงค์ ดังนั้น ในการนำรูปแบบความร่วมมือภาคีเครือข่ายเพื่อการบริหารจัดการ โรงเรียนวัดโบสถ์ ไปใช้ สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึง คือ การสร้างเป้าหมายร่วมในการพัฒนา และการกำหนดบทบาทการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายแต่ละระดับ ซึ่งต้องมีความชัดเจนและนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ภาคีเครือข่าย จะต้องมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การวางแผน การดำเนินงาน การติดตามตรวจสอบ และการสะท้อนผลการดำเนินงาน เพื่อการพัฒนาปรับปรุงการบริหารจัดการ เพื่อนำไปสู่การบรรลุตามเป้าหมาย
2.5 คุณภาพของรูปแบบ : จากการประเมินความเป็นประโยชน์ ความเป็นไปได้
ความเหมาะสม และความถูกต้องครอบคลุม ตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ทุกข้อคำถามได้รับฉันทามติ และเมื่อเทียบกับเกณฑ์ พบว่า อยู่ในระดับมาก
2.6 ปัจจัยความสำเร็จ :
1) ภาคีเครือข่ายทุกระดับต้องประสานความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวโดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ของโรงเรียนวัดโบสถ์
2) การกำหนดบทบาทการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายแต่ละระดับ ต้องมีความชัดเจน เพื่อนำไปสู่การทำความเข้าใจและการปฏิบัติตามบทบาทอย่างเหมาะสม
3) การสร้างวัฒนธรรมการร่วมสะท้อนผลอย่างสร้างสรรค์ จะนำไปสู่ การพัฒนาปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างมีประสิทธิผล
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบความร่วมมือภาคีเครือข่ายเพื่อการบริหารจัดการ โรงเรียน วัดโบสถ์ ปีการศึกษา 2561
3.1 ระดับการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย พบว่า ในภาพรวม อยู่ในระดับมาก จำแนกเป็นการมีส่วนร่วมในภาพรวมของภาคีเครือข่ายภายใน อยู่ในระดับมากที่สุด และภาคีเครือข่ายภายนอก อยู่ในระดับมาก
3.2 ผลการประเมินคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา
3.2.1 ด้านการบริหารจัดการ ในภาพรวมอยู่ในระดับดีเยี่ยม โดยสถานศึกษา มีแผนพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษา ที่สอดคล้องกับสภาพปัญหา ความต้องการพัฒนาของสถานศึกษา มีแผนปฏิบัติการประจำปี สอดคล้องกับการพัฒนาผู้เรียนทุกกลุ่มเป้าหมาย มีการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มาตรฐานตำแหน่ง ข้อมูลสารสนเทศมีความถูกต้อง ครบถ้วน ทันสมัย นำไปประยุกต์ใช้ได้ ดำเนินการอย่างเป็นระบบ และมีกิจกรรมจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสังคมที่กระตุ้นผู้เรียนให้ใฝ่เรียนรู้ มีการระดมทรัพยากรทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการอย่างมีคุณภาพมากขึ้น
3.2.2 ด้านการจัดการเรียนการสอน ในภาพรวมอยู่ในระดับดีเยี่ยม โดยคณะครูวิเคราะห์ผู้เรียน วิเคราะห์หลักสูตร ศึกษาข้อมูลสภาพปัญหาและความต้องการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้และจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เน้นคุณธรรมนำความรู้ โดยการดำเนินงาน/กิจกรรมอย่างหลากหลาย สนับสนุนให้ครูจัดการเรียนรู้ที่สร้างโอกาสให้นักเรียนทุกคนมีส่วนร่วมได้ลงมือปฏิบัติจริง สามารถสรุปความรู้ได้ด้วยตนเอง จัดการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการคิด เช่น จัดการเรียนรู้ด้วยโครงงาน สร้างบรรยากาศทั้งภายในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ครูใช้สื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ครูทุกคนทำงานวิจัยในชั้นเรียนปีการศึกษาละ 2 เรื่อง มีกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ 2 ภาษา ตามโครงการ English We can say
3.2.3 ด้านคุณภาพผู้เรียน ในภาพรวมอยู่ในระดับดีเยี่ยม
1) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 มีร้อยละของคะแนนเฉลี่ย ในปีการศึกษา 2561 บรรลุเป้าหมายตามที่สถานศึกษากำหนด และสูงกว่าปีการศึกษา 2560 ผลการทดสอบความสามารถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ (NT) ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาพรวม ปีการศึกษา 2561 มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่า ปีการศึกษา 2560
2) คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 จำแนกเป็น คุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ประการ และค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ พบว่า ในปีการศึกษา 2561 นักเรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ทั้ง 2 ด้าน ในระดับดีและดีเยี่ยม ร้อยละ 80 ขึ้นไปทุกข้อ
4. ผลการประเมินรูปแบบความร่วมมือภาคีเครือข่ายเพื่อการบริหารจัดการ โรงเรียน วัดโบสถ์ ปีการศึกษา 2561 พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยเห็นว่า ภาคีเครือข่ายมีบทบาท ในด้านการวางแผนการดำเนินงานมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ ภาคีเครือข่ายมีบทบาทในการตรวจสอบประเมินผล และมีบทบาทในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ตามลำดับ