ชื่อเรื่อง การพัฒนาชุดการสอน เรื่องประเพณีและวัฒนธรรมในท้องถิ่น เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์
ทางการเรียนและความรักถิ่นฐานตนเองกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา
และวัฒนธรรม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
ชื่อผู้ศึกษา นางพวงรัตน์ เจดีย์รัตน์
ปีที่ศึกษา พ.ศ.2561
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ(1) เพื่อพัฒนาชุดการสอน เรื่องประเพณีและวัฒนธรรมในท้องถิ่น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์80/80 (2)เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ก่อนและหลังการใช้ชุดการสอน เรื่องประเพณีและวัฒนธรรมในท้องถิ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม (3)เพื่อศึกษาความรักถิ่นฐานตนเองของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่จัดการเรียนการสอนโดยใช้ชุดการสอน เรื่อง ประเพณีและวัฒนธรรมในท้องถิ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม(4)เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ชุดการสอน เรื่องประเพณีและวัฒนธรรมในท้องถิ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/2 โรงเรียนเทศบาลวัดท้าวโคตร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 30 คน ซึ่งได้จากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย (1) ชุดการสอน เรื่องประเพณีและวัฒนธรรมในท้องถิ่น จำนวน 5 ชุด (2) แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการสอนเรื่องประเพณีและวัฒนธรรมในท้องถิ่น จำนวน 15 แผน เวลา 15 ชั่วโมง (3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์การเรียนจำนวน 30 ข้อ ซึ่งมีความยากง่ายระหว่าง 0.23 0.72 ค่าอำนาจจำแนกระหว่าง 0.20-0.85 และความเชื่อมั่น KR20 = 0.87 (4) แบบสอบถามความรักถิ่นฐานตนเองของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่จัดการเรียนการสอนโดยใช้ชุดการสอน เรื่อง ประเพณีและวัฒนธรรมในท้องถิ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม(5) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ชุดการสอน เรื่องประเพณีและวัฒนธรรมในท้องถิ่น เมื่อนำผลมาวิเคราะห์เพื่อหาคุณภาพเครื่องมือ พบว่าแบบสอบถามความพึงพอใจมีค่าความเชื่อมั่นโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบัค เท่ากับ 0.96 สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ(%) ค่าเฉลี่ย ( ) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน(S.D.) การทดสอบค่าที (t-test dependent)
ผลการวิจัย พบว่า
1. ชุดการสอนเรื่องประเพณีและวัฒนธรรมในท้องถิ่น ที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพ 82.86/82.53 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2. ผลสัมฤทธิ์การเรียนของนักเรียนที่ใช้ชุดการสอน หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05
3. ความรักถิ่นฐานตนเองของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่จัดการเรียนการสอนโดยใช้ชุดการสอน เรื่อง ประเพณีและวัฒนธรรมในท้องถิ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมอยู่ในระดับมากที่สุด
4. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ชุดการสอน เรื่องประเพณีและวัฒนธรรมในท้องถิ่นในระดับมากที่สุด