บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อหาประสิทธิภาพของกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์
ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านนา ให้มีประสิทธิภาพ ตามเกณฑ์ 80/80
2) เพื่อเปรียบเทียบทักษะการสังเกต การวัด และการจำแนกประเภท ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านนา ระหว่างก่อนและหลังการจัดประสบการณ์โดยใช้กิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านนา ที่มีต่อการจัดกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านนา อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 26 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยดำเนินการทดลองเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ 1) กิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ จำนวน 20 กิจกรรม 2) แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 จำนวน 20 แผน 3) แบบสังเกตพฤติกรรมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จำนวน 4 ข้อ 4) แบบทดสอบวัดทักษะการสังเกต การวัด และการจำแนกประเภท จำนวน 20 ข้อ 5) แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่มีต่อกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย (x̄) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ผลการศึกษา พบว่า
1. ประสิทธิภาพของกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านนา มีประสิทธิภาพของกระบวนการ (E1) เท่ากับ 83.33 และประสิทธิภาพของผลลัพธ์ (E2) เท่ากับ 85.21 มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 ที่กำหนดไว้ โดยได้เกณฑ์เท่ากับ 83.33/85.21
2. ผลการพัฒนาทักษะการสังเกต การวัด และการจำแนกประเภท ของนักเรียนชั้นอนุบาล
ปีที่ 3 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านนา ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์โดยใช้กิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์พบว่าการพัฒนาทักษะการสังเกต การวัด และการจำแนกประเภทของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โดยใช้กิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ หลังการจัดประสบการณ์สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. การพัฒนาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านนาที่มีต่อการจัดกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ พบว่าความพึงพอใจของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่มีต่อการจัดกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ในภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับความพึงพอใจมาก (x̄= 2.84) และเมื่อพิจารณาเป็นรายสัปดาห์พบว่ามีความพึงพอใจอยู่ในระดับความพึงพอใจมากทุกสัปดาห์