ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการพัฒนาผู้เรียนสู่การอ่านและเขียนภาษาไทย
ของโรงเรียนเทศบาล 1 (วิทยานารี)
ผู้รายงาน นายเอนก ชิณหงส์
ปีการศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การประเมินครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ประเมินผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาผู้เรียนสู่การอ่านและเขียนภาษาไทย ของโรงเรียนเทศบาล 1 (วิทยานารี) ตามความคิดเห็นของครู นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครอง ใน 4 ด้าน คือ ด้านบริบท (Context) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ด้านกระบวนการ (Process) และด้านผลผลิต (Product) และศึกษาความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้องที่มีต่อโครงการ ฯ สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ ครู จำนวน 16 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 9 คน ผู้ปกครอง จำนวน 200 คน และนักเรียนจำนวน 168 คน รวมกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 393 คน โดยการสุ่มตัวอย่างครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ผู้ปกครองและนักเรียน ใช้วิธีการสุ่มประเภทผสม คือ วิธีสุ่มแบบแบ่งชั้น และวิธีสุ่มอย่างง่าย ขอบเขตในการประเมินโครงการ ฯ จำนวน 4 แผน รวม 9 กิจกรรม ดังนี้ แผนงานที่ 1 พัฒนาการอ่านออกเขียนได้ ได้แก่ กิจกรรมการสอนซ่อมเสริม แผนงานที่ 2 การสร้างนิสัยรักการอ่าน ได้แก่ กิจกรรมประกวดยอดนักอ่าน กิจกรรมเล่านิทาน กิจกรรมการประกวดมุมหนังสือในห้องเรียน แผนงานที่ 3 การส่งเสริมและพัฒนาห้องสมุด ได้แก่ กิจกรรมสัปดาห์รักการอ่าน กิจกรรมนานมีบุ๊คส์รีดดิ้งคลับ กิจกรรมห้องสมุดชวนรู้สู่อาเซียน และกิจกรรมอบรมการใช้ห้องสมุด แผนที่ 4 บูรณาการ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้สู่การอ่าน ได้แก่ กิจกรรมบูรณาการ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้สู่การอ่าน ซึ่งได้ดำเนินโครงการในปีการศึกษา 2561 โดยใช้ระยะเวลาในการประเมินโครงการในครั้งนี้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ประกอบด้วย แบบสอบถาม จำนวน 4 ฉบับ คือ 1 ) แบบสอบถามการประเมินโครงการ โดยครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 2) แบบสอบถามการประเมินโครงการ โดยผู้ปกครอง 3) แบบสอบถามการประเมินโครงการโดยนักเรียน 4) แบบสอบถามความพึงพอใจต่อโครงการ โดยครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครอง ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และนำมาแปลผลตามเกณฑ์ ที่กำหนด
ผลการประเมิน พบว่า
1 ) ด้านบริบท (Context) โดยรวมมีความสอดคล้องในระดับมาก ( = 4.47, S.D. = 0.54 ) โดยโครงการสอดคล้องกับนโยบายของเทศบาลเมืองชัยภูมิหรือต้นสังกัดมากกว่าด้านอื่นในระดับมากที่สุด
2) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) โดยรวมมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก ( = 4.35, S.D. = 0.52) โดยปัจจัยนำเข้า ด้านบุคลากร มีการปฏิบัติมากกว่าด้านอื่น รองลงมา ได้แก่ ด้านเครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ และสถานที่และด้านงบประมาณ
3) ด้านปัจจัยกระบวนการ (Process) โดยรวมมีระดับปฏิบัติการอยู่ในระดับมาก โดยกระบวนการขั้นดำเนินการมีการปฏิบัติมากกว่าด้านอื่น รองลงมา ได้แก่ ขั้นเตรียมการ และขั้นการติดตามประเมินผล
4) ด้านผลผลิต (Product) โดยรวมอยู่ในระดับมาก ( = 4.1 2, S.D. = 0.76) โดยผลผลิตด้านครูและบุคลากรมีมากกว่าด้านอื่น รองลงมา ได้แก่ ด้านโรงเรียน และด้านนักเรียนตามลำดับ
สำหรับความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้องได้แก่ ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครองมีความพึงพอใจต่อโครงการพัฒนาผู้เรียนสู่การอ่านและเขียนภาษาไทยของโรงเรียนเทศบาล 1 (วิทยานารี) โดยรวมในระดับมาก ( = 3.87, S.D. = 0.90) โดยมีความพึงพอใจในด้าน โรงเรียนมีสภาพแวดล้อม และบรรยากาศที่เหมาะสมในการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านมากกว่าด้านอื่น