ชื่องานวิจัย : การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการศึกษาของสถานศึกษาตามแนวคิด
ปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียน โรงเรียน
เทศบาล 1 (วิทยานารี)
ผู้วิจัย : นายเอนก ชิณหงส์
ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 1 (วิทยานารี)
ปีที่ทำการวิจัย : 2560 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1)เปรียบเทียบความคิดเห็นของครูที่มีต่อสภาพปัจจุบันและปัญหา การดำเนินการตามแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนเทศบาล 1 (วิทยานารี) ก่อนและหลังการดำเนินการพัฒนา 2)เปรียบเทียบความต้องการของครูเพื่อเพิ่มสมรรถภาพในการจัดการเรียนรู้ ตามแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนเทศบาล 1 (วิทยานารี) ก่อนและหลังการดำเนินการพัฒนา 3)เปรียบเทียบพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครูในการจัดการเรียนรู้ ตามแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนเทศบาล 1 (วิทยานารี) ก่อนและหลังการดำเนินการพัฒนา 4)เปรียบเทียบคุณภาพของผู้เรียน ตามเกณฑ์ตัวชี้วัดเกณฑ์คุณภาพตามแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนเทศบาล 1 (วิทยานารี) ก่อนและหลังการดำเนินการพัฒนา 5) เปรียบเทียบความพึงพอใจของครู นักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ต่อการบริหารจัดการศึกษาของสถานศึกษา ตามแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนเทศบาล 1 (วิทยานารี) ก่อนและหลังการดำเนินการพัฒนา
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียน และนักเรียน ในปีการศึกษา 2560 และปีการศึกษา 2561 กลุ่มตัวอย่าง ปีการศึกษา 2560 เป็น ครู จำนวน 33 คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 13 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 246 คน และนักเรียน จำนวน 246 คน และปีการศึกษา 2561 เป็น ครู จำนวน 34 คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 13 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 248 คน และนักเรียน จำนวน 248 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า แบบบันทึกผล สถิติที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบค่าเฉลี่ยโดยใช้ t-test
ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพการดำเนินการบริหารจัดการศึกษาของสถานศึกษา ตามแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียน โรงเรียนเทศบาล 1 (วิทยานารี) ก่อนและหลังดำเนินการพัฒนาในภาพรวมแตกต่างกันที่ระดับ 0.01 ก่อนดำเนินการ มีการปฏิบัติอยู่ในระดับ ปานกลาง มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 3.00 และหลังดำเนินการ มีการปฏิบัติอยู่ในระดับ มากที่สุด มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.65
2. ปัญหาการบริหารจัดการศึกษาของสถานศึกษา ตามแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนเทศบาล 1 (วิทยานารี) ก่อนและหลังดำเนินการพัฒนาในภาพรวม แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ก่อนดำเนินการมีปัญหาอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.62 หลังดำเนินการมีปัญหาอยู่ในระดับ ปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.95
3. ก่อนและหลังดำเนินการพัฒนาครูมีความต้องการเพิ่มสมรรถภาพในการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาพรวมแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า หลังดำเนินการพัฒนาครูมีความต้องการเพื่อเพิ่มสมรรถภาพในการจัดการเรียนรู้น้อยกว่าก่อนดำเนินการพัฒนาทุกรายการ
4. คุณภาพของผู้เรียน ตามเกณฑ์ตัวชี้วัดเกณฑ์คุณภาพตามแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนเทศบาล 1 (วิทยานารี) ในภาพรวม ค่าเฉลี่ยหลังดำเนินการพัฒนา มีค่ามากกว่าก่อนดำเนินการพัฒนาที่ระดับนัยสำคัญ 0.01 ก่อนดำเนินการผู้เรียนมีคุณภาพ ปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.05 และหลังดำเนินการผู้เรียนมีคุณภาพ มากที่สุด มีค่าเฉลี่ย 4.61
5. ผลการเปรียบเทียบคุณภาพผู้เรียนโรงเรียนเทศบาล 1 (วิทยานารี) ก่อนและหลังการพัฒนา พบว่า
5.1 ผลการประเมินคุณธรรม 9 ประการ ปีการศึกษา 2560-2561 โดยภาพรวม
ปีการศึกษา 2561 มีการพัฒนาสูงกว่าปีการศึกษา 2560
5.2 ผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน ปีการศึกษา 2560-2561 โดยภาพรวม ปีการศึกษา 2561 มีการพัฒนาสูงกว่าปีการศึกษา 2560
5.3 ผลการทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนระดับประถมศึกษาปีการศึกษา 2560-2561 พบว่า โดยภาพรวม ปีการศึกษา 2561 มีการพัฒนาสูงกว่าปีการศึกษา 2560
5.4 ผลการประเมินตามมาตรฐานการศึกษาระดับขั้นพื้นฐานเพื่อการประเมินคุณภาพภายใน มาตรฐานที่ 9 ผู้เรียนมีคุณธรรมจริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ ปีการศึกษา 2561 มีค่าร้อยละสูงกว่า ปีการศึกษา 2560
5.5 ผลการประเมินตามมาตรฐานการศึกษาระดับขั้นพื้นฐานเพื่อการประเมินคุณภาพภายใน มาตรฐานที่ 10 ผู้เรียนมีความรู้และสมรรถนะสำคัญตามหลักสูตรสู่ประชาคมอาเซียน ปีการศึกษา 2561 มีค่าร้อยละสูงกว่า ปีการศึกษา 2560
5.6 ผลการประเมินตามมาตรฐานการศึกษาระดับปฐมวัยเพื่อการประเมินคุณภาพภายใน มาตรฐานที่ 12 เด็กมีพัฒนาการด้านสติปัญญาเหมาะสมตามวัย ปีการศึกษา 2561 มีค่าร้อยละสูงกว่า ปีการศึกษา 2560
5.7 ผลการประเมินตามมาตรฐานระดับขั้นพื้นฐานเพื่อการประเมินคุณภาพภายใน มาตรฐานที่ 13 ผู้เรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ปีการศึกษา 2561 มีการประเมินสูงกว่าปีการศึกษา 2560
5.8 ผลการประเมินตามมาตรฐานระดับขั้นพื้นฐานเพื่อการประเมินคุณภาพภายใน มาตรฐานที่ 14 ผู้เรียนมีสุขนิสัย สุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดีและมีสุนทรียภาพ ปีการศึกษา 2561 มีการประเมินสูงกว่าปีการศึกษา 2560
5.9 ผลการเปรียบเทียบความพึงพอใจของ ครูผู้สอน นักเรียน ผู้ปกครองนักเรียนและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานต่อการพัฒนาการบริหารจัดการศึกษาของสถานศึกษาตามแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนเทศบาล 1 (วิทยานารี) อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ ก่อนและหลังการพัฒนาพบว่า ปีการศึกษา 2561 ครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียน และนักเรียน มีความพึงพอใจต่อการบริหารจัดการศึกษาของสถานศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสูงกว่า ปีการศึกษา 2560
6. จากสรุปผลการวิจัยที่ปรากฏดังรายละเอียดข้างต้น สามารถยืนยันได้ว่าการบริหารจัดการศึกษา ตามแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนเทศบาล 1 (วิทยานารี) ปีการศึกษา 2560 2561 ส่งผลให้คุณภาพของผู้เรียนสูงขึ้น
ผลการศึกษาเป็นไปตามสมมติฐานทุกประการ