ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการนิเทศภายใน ประจำปีการศึกษา 2562 โรงเรียนบ้านแม่น้ำคู้
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 1 โดยใช้รูปแบบ
CIPP Model
ผู้รายงาน นางสาวประภาพร วิทยาคม
ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
รายงานการประเมินโครงการนิเทศภายใน โรงเรียนบ้านแม่น้ำคู้ ปีการศึกษา 2562 ตามกรอบแนวคิดแบบจำลองการประเมินซิปป์ (CIPP Model) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการนิเทศภายในโรงเรียนบ้านแม่น้ำคู้ ปีการศึกษา 2562 ใน 4 ด้าน ดังนี้ 1.การประเมินด้านสภาพแวดล้อม (Context Evaluation: C) 2. การประเมินด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input Evaluation : I) 3. การประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation : P) และ 4. การประเมินด้านผลผลิต (Product Evaluation : P) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ ครูผู้สอน โรงเรียนบ้านแม่น้ำคู้ ปีการศึกษา 2562 จำนวน 10 คน โดยศึกษาประชากร และผู้ปกครองนักเรียน โรงเรียนบ้านแม่น้ำคู้ ปีการศึกษา 2562 จำนวน 106 คน โดยใช้ตารางสำเร็จรูปของเครซี่และมอร์แกน และเลือกกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) รวมทั้งสิ้น 116 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) และนำมาวิเคราะห์โดยใช้สถิติ ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
ผลการประเมินโครงการนิเทศภายในโรงเรียนบ้านแม่น้ำคู้ ปีการศึกษา 2562 สรุปได้ดังนี้
1. ด้านสภาพแวดล้อม ระดับความคิดเห็นของครูผู้สอน โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ โครงการนิเทศภายในเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการประจำปีของโรงเรียน รองลงมาคือ วัตถุประสงค์โครงการได้ระบุถึงการให้ครูพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้บรรลุวัตถุประสงค์ของหลักสูตร และโครงการนิเทศภายในมีความเหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการของโรงเรียน และวัตถุประสงค์โครงการได้ระบุถึงการพัฒนาครูให้มีความรู้ความสามารถในการเลือกและประยุกต์ใช้วิธีการจัดการเรียนรู้ และเทคโนโลยีได้เหมาะสมกับเนื้อหาวิชา ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากัน ตามลำดับ
2. ด้านปัจจัยเบื้องต้น ระดับความคิดเห็นของครูผู้สอน โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ มีปฏิทินการดำเนินงานนิเทศภายในที่ชัดเจน รองลงมาคือ มีแผนการดำเนินงานนิเทศภายในและติดตามผลการดำเนินงานที่ ชัดเจน, รูปแบบการปฏิบัติกิจกรรมนิเทศภายในมีความชัดเจน, มีการประชุมครูเพื่อจัดทำโครงการเสนอเข้าแผนปฏิบัติการประจำปีของโรงเรียน ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากัน และมีการเตรียมความพร้อมด้านอาคารสถานที่ ห้องเรียนห้องพิเศษ ให้มีความพร้อมต่อการดำเนินงานนิเทศภายใน, มีการประชุมชี้แจงนโยบายของผู้บริหารให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายรับทราบ, มีสื่อและเครื่องมือในการนิเทศภายในที่มีความเหมาะสมกับครูและสาระการเรียนรู้, คณะกรรมการนิเทศภายในของโรงเรียนมีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานนิเทศให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากัน ตามลำดับ
3. ด้านกระบวนการ ระดับความคิดเห็นของครูผู้สอน โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ โรงเรียนทำการประชุมปรึกษาหารือในการแก้ปัญหาด้านการจัดการเรียนรู้, ผู้บริหารโรงเรียนดำเนินการนิเทศภายในโดยทางตรง เช่น การสังเกตการสอนในชั้นเรียน การตรวจเยี่ยมชั้นเรียน การให้คำปรึกษา ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากัน รองลงมาคือ โรงเรียนมีการกำกับ ติดตาม และนิเทศการจัดการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ, ผู้บริหารโรงเรียนใช้เทคนิค วิธีการนิเทศโดยทางอ้อมหลากหลายวิธี เช่น การประชุมสัมมนา การอบรมเชิงปฏิบัติการ การใช้สื่อประเภทต่าง ๆ, โรงเรียนมีการประเมินผลการนิเทศภายในเป็นระยะสม่ำเสมอและต่อเนื่อง นำผลการประเมินเป็นข้อมูลในการวางแผนและปรับปรุงการดำเนินงานของโครงการ, มีการกำหนดขอบเขตบทบาทและหน้าที่ของผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ, มีการให้ขวัญและกำลังใจแก่กลุ่มผู้รับการนิเทศ, มีการแจ้งผลการนิเทศภายในให้ครูได้รับทราบเพื่อเป็นข้อมูลย้อนกลับและพัฒนาการจัดการเรียนรู้ต่อไป ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากัน และคณะกรรมการนิเทศภายในมีการใช้เครื่องมือ แบบบันทึก และสื่อต่าง ๆ ประกอบการนิเทศภายใน, โรงเรียนจัดให้มีการประเมินคณะทำงานและประเมินบุคลากรรายบุคคล, มีการวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนทุกระดับชั้น ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากัน ตามลำดับ
4. ด้านผลผลิต ระดับความคิดเห็นของครูผู้สอน โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ครูจัดบรรยากาศทั้งในและนอกห้องเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้, ผู้บริหารโรงเรียนมีการวางแผนโครงการของโรงเรียนอย่างชัดเจนและควบคุมการดำเนินงานตามแผน ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากัน รองลงมาคือ ผู้บริหารโรงเรียนเอาใจใส่ ดูแลการจัดการเรียนรู้และการวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ให้ถูกต้องตามระเบียบ, โรงเรียนมีแผนงานโครงการนิเทศภายในอย่างชัดเจนและครอบคลุมภารกิจ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากัน และนักเรียนมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี สามารถอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นได้, ครูมีความสามารถในการจัดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพและเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง, ครูปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ, ผู้บริหารโรงเรียนจัดแบ่งงานและมอบหมายหน้าที่ให้บุคลากรตามความถนัด ความรู้ความสามารถ และความสนใจของแต่ละคน, โรงเรียนสามารถพัฒนาการดำเนินงานโครงการนิเทศภายในได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากัน ตามลำดับ
สำหรับระดับความคิดเห็นของผู้ปกครองนักเรียน โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ นักเรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข รองลงมา นักเรียนมีสุขภาพจิตดี และนักเรียนมีสุขภาพกายที่ดี ตามลำดับ