บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง การปรับพฤติกรรมการนำหนังสือมาเรียนและส่งงานตรงเวลาของนักเรียน ชั้น ปวช. 1 สาขางานการตลาด ในรายวิชา กฎหมายพาณิชย์ และสาขาช่างไฟฟ้า ในรายวิชา ธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการ โดยการเสริมแรง ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562
ชื่อผู้วิจัย นางกมลพร ปุ่นแก้ว
หน่วยงานที่ทำวิจัย วิทยาลัยการอาชีพนครปฐม ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
ปีที่ทำวิจัย 2562
ในการวิจัย เรื่อง การปรับพฤติกรรมการนำหนังสือมาเรียนและส่งงานตรงเวลาของนักเรียน ชั้น ปวช. 1 สาขางานการตลาดในรายวิชา กฎหมายพาณิชย์ และชั้น ปวช. 1 สาขาช่างไฟฟ้า ในรายวิชา ธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการ โดยการเสริมแรง ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย 1) เพื่อปรับพฤติกรรมการนำหนังสือมาเรียนและส่งงานตรงเวลาของนักเรียน ชั้น ปวช. 1 สาขางานการตลาด และชั้น ปวช. 1 สาขาช่างไฟฟ้า 2) เพื่อเป็นแนวทางในการปลูกจิตสำนึกของนักเรียนที่พึงมีต่อหน้าที่ของตนไปในตัวด้วย กลุ่มตัวอย่าง ที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับชั้น ปวช. 1 สาขางาน การตลาด และสาขาช่างไฟฟ้า ที่ลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 ตัวแปรที่ใช้ ได้แก่ ตัวแปรอิสระ (Independent Variable) ได้แก่ การจัดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียน ระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 1 สาขา การตลาด และสาขาช่างไฟฟ้า ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 ตัวแปรตาม (Dependent Variable) ได้แก่ ระดับ ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่นักเรียนพึงมีต่อตนเอง ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562
ผลการวิจัยพบว่า จำนวน และค่าร้อยละของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ อยู่ในระดับชั้นปวช. 1 สาขา ช่างไฟฟ้า คิดเป็นร้อยละ 66.7 และสาขา การตลาด คิดเป็นร้อยละ 33.3 พบว่า หลังจากที่ครูผู้สอนได้มีการพูดคุยทำข้อตกลงกับผู้เรียน โดยอนุญาตให้ส่งงานเพิ่มเติมได้ในกรณีที่นักเรียนไม่ได้นำหนังสือมาในชั่วโมงเรียน หรือขาดเรียนในวันนั้น แต่มีเงื่อนไขว่า คะแนนที่ได้จากชิ้นงานที่ส่งล่าช้าจะได้น้อยกว่านักเรียนที่ส่งตรงเวลาชิ้นงานละ 1 คะแนน และหากงานที่ส่งมีผิดพลาดอีกก็จะลดคะแนนเพิ่มตามเนื้อหาสาระนั้น ๆ หลังจากที่ได้ทำข้อตกลงปรากฏว่านักเรียนส่วนใหญ่นำหนังสือมาเรียนมากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 81.71 ดังนั้น ผู้วิจัยจึงใช้เป็นแนวทางในการปลูกจิตสำนึกของนักเรียนที่พึงมีต่อหน้าที่ของตนเองในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ต่อไป
การจัดการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต ไม่เพียงแต่ให้ความรู้และทักษะด้านวิชาการเท่านั้น สถานศึกษายังมีหน้าที่รับผิดชอบในการเสริมสร้างพัฒนาการทุก ๆด้านให้เจริญงอกงาม เพื่อช่วยให้ผู้เรียนพึ่งตนเองและปรับตัวให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนมาจากครอบครัวที่แตกต่างกัน เติบโตมาจากสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน ได้รับการอบรมเลี้ยงดูไม่เหมือนกัน จึงทำให้ผู้เรียนมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น เด็กบางคนมีพฤติกรรมเป็นที่ยอมรับของสังคม บางคนมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์