ผลงานที่ประสบความสำเร็จ
ชื่อผลงาน รายงานผลการพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กโดยใช้จัดกิจกรรมศิลปะประดิษฐ์
ด้วยวัสดุเหลือใช้ ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านเก่า
ชื่อผู้นำเสนอ นางอารีย์ ศรีทวีวัฒน์
กลุ่มสาระการเรียนรู้ การศึกษาปฐมวัย
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเปรียบเทียบการพัฒนาความสามารถการใช้กล้ามเนื้อเล็กของนักเรียนชั้นอนุบาล
ปีที่ 3 ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์การเรียนรู้กิจกรรมศิลปะประดิษฐ์ ด้วยวัสดุเหลือใช้
2. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่3 ที่มีต่อการจัดกิจกรรมศิลปะประดิษฐ์ ด้วยวัสดุเหลือใช้
ผลที่ได้รับ
ผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียน
1. เพื่อเปรียบเทียบการพัฒนาความสามารถการใช้กล้ามเนื้อเล็กของนักเรียนชั้นอนุบาล
ปีที่ 3 ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์การเรียนรู้กิจกรรมศิลปะประดิษฐ์ด้วยวัสดุเหลือใช้
การจัดประสบการณ์การเรียนรู้กิจกรรมศิลปะประดิษฐ์ด้วยวัสดุเหลือใช้เพื่อพัฒนาความสามารถการใช้กล้ามเนื้อเล็กของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 พบว่า หลังการจัดประสบการณ์ นักเรียนมีการความสามารถการใช้กล้ามเนื้อเล็กสูงขึ้น กว่าก่อนการจัดประสบการณ์อย่างเห็นได้ชัดเจน เนื่องจาก การจัดกิจกรรมศิลปะประดิษฐ์ด้วยวัสดุเหลือใช้ เป็นกิจกรรมที่เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริงด้วยกระบวนการให้เด็กได้ใช้กล้ามเนื้อเล็ก มือ นิ้วมือในการหยิบ จับ สัมผัสวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆในกิจกรรมการ ตัด ปะ การขยำ และการร้อย โดยการนำวัสดุเหลือใช้ชนิดต่างๆมาสร้างผลงานตามความคิดจินตนาการ มาดัดแปลงให้เป็นรูปร่าง รูปทรงต่างๆอย่างประณีตสวยงามและเป็นผลผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับ(ฝ่ายวิชาการ สำนักพิมพ์ประสานมิตร,2555: 7) การจัดกิจกรรมประดิษฐ์สำหรับเด็กปฐมวัย มีความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีความเหมาะสมกับเด็กเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพของเด็กแต่ละคน จึงควรจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความต้องการของเด็กควรเปิดโอกาสให้เด็กได้สังเกต สำรวจ ฝึกฝนให้เกิดกระบวนการคิดและแก้ไขปัญหาด้วยตนเองอย่างมีขั้นตอน จะทำให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ นำของที่ไม่ใช้แล้วมาประดิษฐ์ให้เกิดประโยชน์ ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง พร้อมทั้งยังช่วยส่งเสริมสมาธิให้เด็กมีความมุ่งมั่นอดทนในการทางานมากขึ้นด้วย การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ในการประดิษฐ์ชิ้นงานต้องเลือกให้เหมาะสมจึงจะได้งานออกมามีคุณภาพ และสามารถพัฒนาศักยภาพของเด็กได้อย่างเต็มที่และสอดคล้องกับ (วรรณี วงศ์พานิชย์,2555: 21) สื่อที่ดีจึงควรเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนรู้จักการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองด้วย และการทำกิจกรรมงานประดิษฐ์เป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นการใช้สื่อจากวัสดุเหลือใช้ นำมาใช้ในการจัดกิจกรรมงานประดิษฐ์ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย มักพบปัญหาการใช้สื่อต่างๆ มักมองข้ามการใช้สื่อจากวัสดุเหลือใช้ที่มีอยู่รอบตัว ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กปฐมวัย จึงควรคิดคำนึงในการจัดเตรียมสื่อต่างๆ ให้เด็กได้รับรู้คุณค่าของสื่อวัสดุเหลือใช้ที่มีอยู่รอบตัวเด็ก ฝึกให้เด็กรู้จักใช้สื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนการเลือกใช้วัสดุที่ตนเองสนใจผ่านกระบวนการคิดในการสร้างผลงานของตนเองและรู้จักเก็บรักษาวัสดุอุปกรณ์ที่ตนเองเลือกอย่างทะนุถนอม มีความอดทนมุ่งมั่นในการผลิตชิ้นงานของตนเอง ดังนั้น กิจกรรมศิลปะประดิษฐ์ด้วยวัสดุเหลือใช้ จะช่วยส่งเสริมความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยได้เป็นอย่างดี
2. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่มีต่อการจัดกิจกรรมศิลปะประดิษฐ์
ด้วยวัสดุเหลือใช้
ผลการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่มีต่อการจัดกิจกรรมศิลปะประดิษฐ์ด้วยวัสดุเหลือใช้ พบว่า นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 มีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับพึงพอใจมาก มีจำนวนคนเฉลี่ยผ่านเกณฑ์ที่กำหนดร้อยละ 80 สรุปได้ว่า การจัดกิจกรรมศิลปะประดิษฐ์ด้วยวัสดุเหลือใช้ เป็นกิจกรรมที่มีลักษณะการจัดกิจกรรมหลาย เช่น การฉีก ตัด ปะ การขยำ การร้อย การประดิษฐ์ เป็นต้น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ จิตใจ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา และช่วยส่งเสริมการพัฒนาความสามารถการใช้กล้ามเนื้อเล็ก ส่งผลให้นักเรียนระดับปฐมวัยมีพัฒนาการในการใช้กล้ามเนื้อเล็กได้เป็นอย่างดี
ผลที่เกิดขึ้นกับครู
1. สามารถนำไปเผยแพร่ให้แก่เพื่อนครูต่างโรงเรียนไปใช้พัฒนานักเรียนในระดับปฐมวัยต่อไปได้ ทำให้เกิดการยอมรับจากเพื่อนครู
2. เป็นการพัฒนาตนเองในการศึกษาหาความรู้ในสาขาวิชาที่สอน มีแนวคิด มีวิธีการจัดประสบการณ์ที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้ครูมีเทคนิคและวิธีการสอนที่หลากหลายมากขึ้น สามารถนำไปเป็นแนวทางในการสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนานักเรียนในด้านอื่นๆ ต่อไป
ผลที่เกิดขึ้นกับสถานศึกษาและชุมชน
เนื่องจากการจัดประสบการณ์การเรียนรู้กิจกรรมศิลปะประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ เป็นการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาความสามารถการใช้กล้ามเนื้อเล็ก ส่งผลให้นักเรียนระดับปฐมวัยมีพัฒนาการในการใช้กล้ามเนื้อเล็กได้ดี ทำให้เด็กได้รับรางวัลจากการแข่งขันทักษะวิชาการหลายกิจกรรม เช่น กิจกรรมการฉีกตัดปะกระดาษ กิจกรรมวาดภาพระบายสี นำชื่อเสียงมาสู่สถานศึกษา สามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนให้สูงขึ้นเพราะนักเรียนมีพัฒนาการในการใช้กล้ามเนื้อเล็กที่คล่องแคล่ว เป็นพื้นฐานที่ดีในการเขียน สถานศึกษาจึงได้รับความไว้วางใจจากผู้ปกครองและชุมชน ในด้านการจัดการเรียนการสอนและได้รับการรับรองจากสำนักงานรับรองและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์กรมหาชน) จากการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสามผ่านทุกมาตรฐานอยู่ในระดับดีมาก