บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง : การพัฒนาทักษะการอ่านจับใจความสำคัญโดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่าน
จับใจความสำคัญ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย
ชื่อผู้ศึกษา : นางอมรรัตน์ วงศ์วิชัย
ปีการศึกษา : 2562
สถานศึกษา : โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย สังกัดสำนักการศึกษาศาสนา
และวัฒนธรรม จังหวัดเชียงราย
การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังเรียนโดยการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีต่อการเรียนโดยการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/8 โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย สังกัดสำนักการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำนวน 35 คน ได้ดำเนินการในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า ได้แก่ แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ จำนวน 8 เล่ม แผน การจัดการเรียนรู้ แบบสอบถามความพึงพอใจและแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ ศึกษาคะแนนจากการทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และการตอบแบบสอบถามความพึงพอใจของกลุ่มตัวอย่าง สถิติที่ใช้คือ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานและการทดสอบค่าที (t-test) พร้อมกับนำเสนอข้อมูลโดยการบรรยายใต้ตารางด้วยความเรียง
ผลการศึกษาพบว่า
1. ผลการหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จากการนำไปใช้กับกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/8 จำนวน 35 คน พบว่า มีประสิทธิภาพโดยรวมเท่ากับ 85.94/87.79 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 80/80 เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้
2. ผลการศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังเรียนด้วยแบบฝึกทักษะการอ่าน จับใจความสำคัญ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย พบว่านักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านการอ่านจับใจความสำคัญ หลังเรียนสูงกว่าคะแนนทดสอบก่อนเรียน แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติที่ระดับ .01 จากคะแนนเต็ม 40 คะแนน คะแนนทดสอบก่อนเรียนเท่ากับ 17.09 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 42.71 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 3.33 คะแนนหลังเรียนเท่ากับ 35.11 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 87.79 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 1.73 คะแนนความก้าวหน้าเท่ากับ 18.06 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 45.14 สรุปได้ว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้
3. ระดับความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนด้วยแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านความรู้สึก ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระภาษาไทย ด้านกิจกรรมการเรียนการสอน ด้านบทบาทของผู้เรียน และด้านบทบาทการสอนของครู มีค่าความพึงพอใจเฉลี่ย เท่ากับ 4.99 ซึ่งเป็นความพึงพอใจในระดับมากที่สุด