ชื่อผลงาน การใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบซิปปา (CIPPA MODEL) เพื่อพัฒนาทักษะการคิดคำนวณ เรื่อง เลขยกกำลังที่มีเลขชี้กำลังเป็นจำนวนเต็ม สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
ชื่อเจ้าของผลงาน นางสาวพีรยา แจ่มศรี
โรงเรียนอ่างศิลาพิทยาคม อำเภอ เมืองชลบุรี จังหวัด ชลบุรี
๑. ที่มาและความสำคัญ
จากสภาพปัจจุบันในการจัดการเรียนรู้ในวิชาคณิตศาสตร์ในภาพรวมระดับประเทศยังไม่บรรลุจุดมุ่งหมายของหลักสูตร โดยพบว่า ทักษะการคิดคำนวณของนักเรียนยังไม่ถูกต้องทั้งหมด และนักเรียนไม่สามารถนำทฤษฎีบทต่าง ๆ ในวิชาคณิตศาสตร์ไปใช้ได้
จากความสำคัญและปัญหาดังกล่าว ผู้ศึกษาค้นคว้ามีความเห็นว่าควรจะมีการศึกษาเกี่ยวกับการออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเพื่อพัฒนาผลการเรียนรู้ และความสนใจในการเรียน เพราะผลการเรียนรู้และความสนใจในการเรียน จะส่งผลต่อการเรียนรู้ที่ยั่งยืนของนักเรียนอันเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 หมวด 4 แนวการจัดการศึกษา มาตรา 22 กล่าวว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนมีความ สำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียน สามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ ซึ่งเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2542 ต้องการให้ผู้เรียนได้มีโอกาสในการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองได้เรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติจริง เน้นในเรื่องบทบาทของผู้เรียนเป็นผู้ที่สำคัญที่สุดในการจัดการเรียนการสอนและให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต
ผู้ศึกษาค้นคว้าในฐานะเป็นครูผู้สอนคณิตศาสตร์ ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับนักเรียนจึงนำการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบซิปปา (CIPPA MODEL) มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง เลขยกกำลังที่มีเลขชี้กำลังเป็นจำนวนเต็ม สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
๒. วัตถุประสงค์
๒.๑ เพื่อให้นักเรียนมีทักษะการคิดคำนวณ เรื่อง เลขยกกำลังที่มีเลขชี้กำลังเป็นจำนวนเต็ม ได้ถูกต้องมากขึ้น โดยการใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบซิปปา (CIPPA MODEL)
๒.๒ เพื่อให้นักเรียนสามารถหาคำตอบโดยการนำทฤษฎีบทไปใช้ได้
๓. ขั้นตอนการดำเนินงาน
๓.๑ ขั้นวางแผน
วิเคราะห์ผู้เรียนรายบุคคล แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มเก่ง ปานกลาง อ่อน โดยใช้เกรดของผลการเรียนในรายวิชาคณิตศาสตร์ 2 ของภาคเรียนที่ผ่านมา
วิเคราะห์หลักสูตร จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการสอนแบบซิปปา
๓.๒ ขั้นปฏิบัติการ
นำแผนการจัดการเรียนรู้ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน บันทึกหลังแผนการจัดการเรียนรู้ และนำปัญหาข้อบกพร่องมาปรับปรุงในการจัดกิจกรรมในครั้งต่อไป
๓.๓ ขั้นสังเกตการณ์
สังเกตกระบวนการปฏิบัติและผลของการปฏิบัติโดยใช้เครื่องมือและเทคนิค การรวบรวมข้อมูล เช่น บันทึกหลังแผนการจัดการเรียนรู้ การสังเกตพฤติกรรมการเรียนการสอน ความถูกต้องในการทำแบบฝึกหัดของนักเรียน
๓.๔ ขั้นสะท้อนผลการปฏิบัติ
วิเคราะห์ ประเมิน อภิปราย สรุปผล เสนอแนะและปรับปรุงการจัดกิจกรรม
๓.๕ สรุปรายงาน
๔. ผลการดำเนินการ/ ผลสัมฤทธิ์/ ประโยชน์ที่ได้รับ
๔.๑ นักเรียนมีทักษะการคิดคำนวณได้ถูกต้องมากขึ้น
๔.๒ นักเรียนสามารถหาคำตอบโดยการนำทฤษฎีบทไปใช้ได้
๕. ปัจจัยความสำเร็จ
ครูผู้สอนมีความตระหนักและเห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะการคำนวณและการนำทฤษฎีบทไปใช้เป็นอย่างยิ่งในการจัดการศึกษาเพื่อให้มีคุณภาพสูงขึ้น และถือได้ว่าเป็นการฝึกกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดและใช้สมองในการเรียนรู้ให้มากขึ้น และการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้รูปแบบการสอนแบบซิปปา เป็นกิจกรรมที่มีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนมีความสนใจและกระตือรือร้นในการร่วมกิจกรรม ได้ลงมือปฏิบัติจริงทำให้เกิดการสร้างองค์ความรู้และแก้ปัญหาโดยใช้กระบวนการกลุ่มเป็นเครื่องมือ
๖. บทเรียนที่ได้รับ(Lesson Learn)
ข้อสรุป ทักษะการคำนวณเป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาและฝึกฝนได้ บุคคลใดได้รับการพัฒนาและฝึกอย่างต่อเนื่องก็จะมีทักษะการคำนวณมากขึ้น และการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้รูปแบบการสอนแบบซิปปา ทำให้ผู้เรียนมีความสนใจและกระตือรือร้นในการร่วมกิจกรรม
ข้อสังเกต การให้นักเรียนพัฒนาทักษะการคำนวณอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ต้องอาศัยความร่วมมือจากครูผู้สอนที่มีความตั้งใจจริงที่จะพัฒนานักเรียนร่วมกัน และปฏิบัติอย่างจริงจัง นักเรียนจึงจะเกิดทักษะการคำนวณอย่างแท้จริง
ข้อเสนอแนะ คือ ผู้สอนต้องไม่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกกดดันในการปฏิบัติกิจกรรม แต่ให้คอยแนะนำและเป็นกำลังใจให้ผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมได้อย่างมีความสุข