ชื่อเรื่องการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิชาฟิสิกส์ โดยใช้ PEGCA Model ที่เสริมสร้าง
มโนทัศน์ฟิสิกส์และความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหา ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
ผู้วิจัยนางพรทิพย์พา จรรยาประดิษฐ์
โรงเรียนโรงเรียนสีคิ้ว สวัสดิ์ผดุงวิทยา อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา
สำนักการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา
ปีที่พิมพ์ 2562
บทคัดย่อ
การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิชาฟิสิกส์ โดยใช้ PEGCA Model เพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์ฟิสิกส์และความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหา ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิชาฟิสิกส์ โดยใช้ PEGCA Model เพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์ฟิสิกส์และความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหา ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 2) เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนการสอนวิชาฟิสิกส์ โดยใช้ PEGCA Model เพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์ฟิสิกส์และความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหา ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนวิชาฟิสิกส์ โดยใช้ PEGCA Model เพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์ฟิสิกส์และความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหา ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหา ของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน และ 4) เพื่อประเมินรูปแบบการเรียนการสอนวิชาฟิสิกส์ โดยใช้ PEGCA Model เพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์ฟิสิกส์และความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหา ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนและข้อมูลจากการดำเนินการวิจัยมาปรับปรุงแก้ไข กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/1 จำนวน 34 คน โรงเรียนสีคิ้ว สวัสดิ์ผดุงวิทยา อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมาได้มาจากการสุ่มกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมีจำนวน 5 ชนิด คือ 1) แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 9 แผน 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ซึ่งเป็นแบบปรนัย ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.38-0.63 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ (KR-20) เท่ากับ 0.82 3) แบบวัดความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหา ซึ่งเป็นแบบอัตนัย จำนวน 8 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนก ตั้งแต่ 0.25-0.58 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ (KR-20) เท่ากับ 0.90 และ (5) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนที่เสริมสร้างมโนทัศน์ฟิสิกส์และความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) จำนวน 20 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.36-0.73 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ (α) เท่ากับ 0.93 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลใช้ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t test for Dependent Sample)
ผลการวิจัยปรากฏ ดังนี้
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานพบว่าหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคนให้พึงรู้ ปฏิบัติได้ มีคุณธรรมจริยธรรม และมีค่านิยมที่พึงประสงค์ หลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มุ่งให้มนุษย์ ได้พัฒนาวิธีคิด ทั้งความคิดเป็นเหตุเป็นผล คิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์วิจารณ์ มีทักษะสำคัญในการค้นคว้าหาความรู้ มีความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาอย่างเป็นระบบ สามารถตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลที่หลากหลายและมีประจักษ์พยานที่ตรวจสอบได้ ดังนั้นทุกคนจึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้รู้วิทยาศาสตร์ เพื่อที่จะมีความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติและเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น สามารถนำความรู้ไปใช้อย่างมีเหตุผล สร้างสรรค์ และมีคุณธรรม สำหรับแนวคิดในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนที่เสริมสร้างมโนทัศน์ฟิสิกส์และความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหานั้น มีแนวคิดจากความคิดเห็นของครูผู้สอนรายวิชาฟิสิกส์ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นการสืบเสาะหาความรู้ การเรียนรู้ร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดกัน ฝึกทักษะร่วมกัน ตรวจสอบซึ่งกันและกัน และแทรกการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นขั้นตอน เพื่อนำไปสู่ความสามารถในการจำแนก การหาความสัมพันธ์ ความเข้าใจในทฤษฎีและความสามารถในการคิดแก้โจทย์ปัญหาเป็น
2. ผลการพัฒนาได้รูปแบบการเรียนการสอนวิชาฟิสิกส์ โดยใช้ PEGCA Model เพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์ฟิสิกส์และความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหา ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีองค์ประกอบอยู่ 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) หลักการ 2) จุดประสงค์ 3) เนื้อหาสาระ 4) กระบวนการเรียนรู้ และ 5) การวัดและประเมินผล และมีชื่อว่า PEGCA Model มีกิจกรรมการเรียนรู้ในองค์ประกอบที่ 4 อยู่ 5 ขั้น คือ 1) ขั้นเตรียมความพร้อม (Preparation step : P ) 2) ขั้นค้นหามโนทัศน์ฟิสิกส์ (Exploration Concepts Physics step : E) 3) ขั้นกลุ่มสำรวจและลงข้อสรุปของมโนทัศน์ฟิสิกส์ (Group Exploration and Explanation of Concepts Physics step : G ) 4) ขั้นกระจ่างมโนทัศน์ฟิสิกส์ตามเทคนิคของโพลยา (Conceptualizes Physics by Polyas Technique step : C ) และ 5) ขั้นประเมินผลและสรุปบทเรียน (Assessment and Lessons Learned step : A ) สำหรับรูปแบบการเรียนการสอนที่เสริมสร้างมโนทัศน์ฟิสิกส์และความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 นี้ มีความเหมาะสมโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (= 4.61) มีประสิทธิภาพเท่ากับ 85.75/81.78 ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 80 /80
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนวิชาฟิสิกส์ โดยใช้ PEGCA Model เพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์ฟิสิกส์และความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหา ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทำให้ 1) นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ 2) นักเรียนมีความสามารถในการแก้ปัญหาหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. การประเมินรูปแบบการเรียนการสอนพบว่านักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนวิชาฟิสิกส์ โดยใช้ PEGCA Model เพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์ฟิสิกส์และความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหา ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 อยู่ในระดับมากที่สุด