ชื่อผู้นำเสนอผลงาน นางสาวกุลิสรา เบ้าสุข
ครู คศ.2 โรงเรียนบ้านม่วงฝ้าย
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1
ความเป็นมา
จุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษากล่าวถึงการพัฒนานักเรียนให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพทั้งด้านร่างกาย
จิตใจ สติปัญญา ความสามารถ มีคุณธรรม จริยธรรม และมีวิถีชีวิตที่เป็นสุขตามที่สังคมมุ่งหวัง การพัฒนาผู้เรียนให้มีลักษณะตามความมุ่งหวังต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะบุคลากรในโรงเรียน ซึ่งมี ครูที่ปรึกษาเป็นหลักสำคัญในการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างใกล้ชิด ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ได้กำหนดความมุ่งหมายและหลักการจัดการศึกษาเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข (มาตรา 16) และแนวการจัดการศึกษายังให้ความสำคัญกับผู้เรียนทุกคน โดยยึดหลักการผู้เรียนทุกคน เป็นผู้มีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุดกระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ (มาตรา 22)
ปัญหาสำคัญที่พบมากในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในปัจจุบัน คือ ความบกพร่องทางการเรียนรู้ ซึ่งหมายถึง ความผิดปกติของกระบวนการทางจิตวิทยา (Psychological Process) อย่างหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ภาษา การพูด หรือการเขียน ทำให้บุคคลที่มีความผิดปกติดังกล่าวด้อยความสามารถในการฟัง การคิด การอ่าน การเขียน หรือการคำนวณทางคณิตศาสตร์ นักเรียนที่มีความบกพร่องด้านการเรียนรู้ (Learning disabilities, LD) หมายถึง นักเรียนที่มีความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างของขบวนการพื้นฐานทางจิตวิทยาการเรียนรู้ที่เกี่ยวกับความเข้าใจหรือการใช้ภาษา การพูดหรือการเขียน ซึ่งความผิดปกตินี้อาจส่งผลให้เกิดความบกพร่องในเรื่องที่เกี่ยวกับความเข้าใจ การฟัง การคิด การพูด การอ่าน การเขียน การสะกดคำ ตลอดจนการคิดคำนวณ แต่ไม่รวมถึงเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้อันเนื่องมาจากการมีความพิการด้านสายตา การได้ยิน ร่างกายพิการ ภาวะปัญญาอ่อน มีปัญหาทางด้านอารมณ์หรือเป็นเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา ความบกพร่องทางการเรียนรู้ ก่อให้เกิดปัญหาการเรียนเนื่องมาจากเด็กไม่สามารถเรียนได้ดีเท่ากับเด็กปกติทั่วไป ความบกพร่องที่พบมากที่สุดคือความบกพร่องทางการอ่าน เด็กที่มีปัญหาในการอ่านอาจมีพฤติกรรมดังนี้ 1) จำอักษรไม่ได้ ทำให้อ่านเป็นคำไม่ได้ 2) จำอักษรได้บ้าง แต่อ่านเป็นคำไม่ได้ 3) ระดับความสามารถในการอ่านต่ำกว่านักเรียนอื่นในชั้นเรียนเดียวกัน 4) ระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยหรือสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ย เมื่อวัดโดยใช้แบบทดสอบเชาว์ปัญญาที่เชื่อถือได้ 5) เด็กบางคนอาจมีความไวในการใช้สายตา 6) อ่านคำโดยสลับตัวอักษร 7) ไม่เข้าใจว่าตัวอักษรใดมาก่อน มาหลังตัวอักษรใดอยู่ซ้ายหรือขวา 8) ไม่สามารถแยกเสียงสระในคำได้ นักเรียนที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ทางด้านการอ่าน จะมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำและส่งผลให้มีปัญหาทางพฤติกรรม จากประสบการณ์ในการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้พบว่ากิจกรรมใดที่นักเรียนไม่ประสบความสำเร็จในการทำกิจกรรมหรือไม่พอใจที่จะทำ นักเรียนจะเกิดความเบื่อหน่าย ขาดความตั้งใจ เนื่องจากภาษาเป็นพื้นฐานที่ช่วยให้คนเราสามารถติดต่อ สื่อสารแก้ปัญหา ผสมผสาน วิเคราะห์ และสังเคราะห์ความรู้ได้ หากมีความบกพร่องทางภาษาจะทำให้เกิดผลเสียอย่างรุนแรงต่อความสามารถของบุคคลต่อการเรียนรู้ การดำรงชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและความเชื่อมั่นในตนเอง นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการอ่าน จะมีลักษณะการอ่าน ดังนี้ คือ อ่านไม่ออก อ่านช้า อ่านตะกุกตะกัก อ่านคำไม่ถูกต้อง อ่านข้ามคำ อ่านเพิ่มคำ อ่านคำอื่นแทน หรืออ่านกลับหลัง ไม่เข้าใจสิ่งที่อ่าน ทำให้ขาดความเข้าใจในเนื้อหาของเรื่องที่อ่าน ซึ่งเป็นสาเหตุให้ประสบกับปัญหาความยุ่งยากในการเรียน หรืออาจเรียนช้ากว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน เนื่องจากขาดความสามารถในการอ่าน ด้วยเหตุนี้การอ่านจึงเป็นปัญหาสำคัญที่สุดของผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ภาวะบกพร่องด้านการอ่านจะส่งผลต่อความสามารถในการตีความ การเข้าใจความหมายของคำ หรือภาษา การออกเสียงคำศัพท์ ซึ่งความบกพร่องนี้เกิดขึ้นจากความผิดปกติทางระบบประสาทการรับรู้ต่างๆ เช่น การรับรู้ทางสายตา การรับรู้ทางการได้ยิน ระบบความจำ และทักษะการใช้ภาษา
จากการสังเกตพฤติกรรมด้านการอ่านของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้พบว่า นักเรียนจะอ่านออกเสียงได้เต็มที่หากฝึกอ่านกับเพื่อน ด้วยเหตุผลนี้ครูผู้สอนจึงจัดกิจกรรม บัดดี้คู่ซี้ จิตดี อ่านดี ขึ้น เพื่อฝึกกระบวนการอ่านของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ให้มีพัฒนาการด้านการอ่านที่ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความมีน้ำใจ การมีจิตอาสา ในการช่วยเหลือเพื่อนเพื่อมุ่งหวังให้นักเรียนสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข มีความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต สามารถดำเนินชีวิตประจำวัน เรียนรู้ด้วยตนเองต่อเนื่อง ทำงานและอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล
วัตถุประสงค์
1. เพื่อฝึกให้นักเรียนมีจิตอาสา รู้จักช่วยเหลือสังคมและบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น
2. เพื่อให้นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ได้พัฒนาทักษะในการอ่าน
กลุ่มเป้าหมาย
นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 10 คน
ขั้นตอนการดำเนินงาน
ขั้นที่ 1 ขั้นวางแผน
ขั้นวางแผนเป็นขั้นตอนการหาแนวคิด วิธีการ นวัตกรรม รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่สามารถแก้ไขปัญหาด้านการอ่านของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้
ขั้นที่ 2 ขั้นเตรียมการและออกแบบ
เมื่อได้กำหนดรูปแบบการจัดการเรียนรู้เรียบร้อยแล้วก็ถึงขั้นการเตรียมออกแบบสมุดบันทึกบัดดี้คู่ซี้ จิตดี อ่านดี ซึ่งเป็นแบบฝึกที่ใช้เพื่อพัฒนาทักษะด้านการอ่านของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้
ขั้นที่ 3 ขั้นการจัดทำ
ครูสร้างแบบสมุดบันทึกบัดดี้คู่ซี้ จิตดี อ่านดี ซึ่งเป็นแบบฝึกที่ใช้เพื่อพัฒนาทักษะด้านการอ่านของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ โดยรวบรวมคำศัพท์แยกตามการประสมของสระ
ขั้นที่ 4 ขั้นการนำเสนอ
นักเรียนที่เป็นบัดดี้คู่ซี้นำเสนอผลการบันทึกการอ่านที่บันทึกในสมุดบันทึกบัดดี้คู่ซี้ จิตดี อ่านดี เพื่อดูพัฒนาการความก้าวหน้าด้านการอ่านของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้
ขั้นที่ 5 ขั้นการประเมินผล
ครูและนักเรียนคู่บัดดี้ประเมินการอ่านของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ร่วมกัน และครูยังสังเกตพฤติกรรมการมีจิตอาสา ฝึกเพื่อนอ่านของนักเรียนคู่บัดดี้
ขั้นที่ 6 ขั้นการสรุปผล
ครูผู้สอนและนักเรียนร่วมกันสรุปผลการประเมินทั้งนี้เพื่อให้ทราบว่าสมุดบันทึกบัดดี้คู่ซี้ จิตดี อ่านดี ที่จัดทำขึ้นนั้น บรรลุตาม วัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ มีข้อดีและข้อควรปรับปรุงอะไรบ้าง
ผลการดำเนินงาน
1. นักเรียนมีจิตอาสา มีน้ำใจช่วยเหลือเพื่อน
2. นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้มีพัฒนาการในด้านการอ่านที่ดีขึ้น
ข้อเสนอแนะ
ควรพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ นอกเหนือจากทักษะด้านการอ่าน