ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผสานแนวคิด
กลุ่มร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ผู้วิจัย นางรัตนา วชิราสุริยา
ปีที่ทำวิจัย 2561
บทคัดย่อ
การดำเนินการวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลฟื้นฐานในการพัฒนารูปแบบ การจัดการเรียนรู้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผสานแนวคิดกลุ่มร่วมมือเพื่อส่งเสริม การแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัด การเรียนรู้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผสานแนวคิดกลุ่มร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 3) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผสานแนวคิดกลุ่มร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผสานแนวคิดกลุ่มร่วมมือเพื่อส่งเสริม การแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยมีกลุ่มผู้ให้ข้อมูล คือ ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ จำนวน 10 คน ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 คน และกลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาล 1 บุรีราษฎร์ดรุณวิทยา จำนวน 90 คน
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การหาประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ การทดสอบค่า t test Independent และ t test dependent และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผสานแนวคิดกลุ่มร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากการประชุมกลุ่มย่อยของผู้ทรงคุณวุฒิและสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ ผู้วิจัยนำมาสังเคราะห์เนื้อหา พบว่า การจัดการเรียนรู้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผสานแนวคิดกลุ่มร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ จะเน้นให้นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์ในกลุ่ม ได้เคลื่อนไหวร่างกายได้ลงมือปฏิบัติและสรุปความรู้ด้วยตนเอง โดยให้นักเรียนได้เรียน อย่างกระตือรือร้นและมีความสุขในการเรียน ได้แก่ การสอนโดยการจับคู่ เพื่อนช่วยเพื่อน การสอนโดยใช้กระบวนการกลุ่ม การสอนโดยใช้ ความร่วมมือ การสอนโดยใช้เกม เพลง การสรุปความคิด รวบยอดโดยใช้แผนผังความคิดหรือแผนภาพกราฟิก
2. ผลการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผสานแนวคิดกลุ่มร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้มีองค์ประกอบ 4 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 หลักการ ส่วนที่ 2 วัตถุประสงค์ ส่วนที่ 3 ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ ส่วนที่ 4 การประเมินผล และความเหมาะสมของรูปแบบและแผนการจัดการเรียนรู้ โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
3. ผลการศึกษาการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผสานแนวคิดกลุ่มร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า 1) ประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ ที่พัฒนาขึ้นมีค่า 81.94/81.04 เป็นไปตามเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้ 2) นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หลังเรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ สูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3) นักเรียนมีความสามารถในการแก้ปัญหา ทางคณิตศาสตร์ หลังเรียน สูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4) นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้มีความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ สูงกว่านักเรียนที่เรียนแบบปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ความพึงพอใจของนักเรียนต่อการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผสานกลุ่มร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยรวมอยู่ในระดับมาก