ชื่อเรื่อง รายงานผลการใช้นิทานสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนเทศบาล 1 (วัดพรหมวิหาร)
ผู้รายงาน นางสาวปริยากร ภัทรประชากุล
ปีการศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาผลการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมโดยการใช้นิทานสร้างสรรค์ 2) เปรียบเทียบความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัยก่อนและหลังการใช้นิทานสร้างสรรค์ ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ คือนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนเทศบาล 1 (วัดพรหมวิหาร) สังกัดเทศบาลตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย จำนวน 28 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง ( Purposive Sampling)
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา และรวบรวมข้อมูลครั้งนี้ได้แก่ 1) นิทานสร้างสรรค์จำนวน 8 เรื่อง 2) แผนการจัดกิจกรรมประกอบนิทานสร้างสรรค์ จำนวน 24 แผน 3) แบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์ และใช้แบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์ โดยใช้รูปภาพ เอ. ของทอร์แรนซ์ (TorranceTest of Creative Thinking Figural Form A.) ซึ่งได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมกับเด็กไทยโดย อารี รังสินันท์ ประกอบด้วยกิจกรรม 3 ชุด คือ
ชุดที่ 1 การวาดภาพ จากสิ่งเร้าที่กำหนดให้ซึ่งเป็นกระดาษตัดปะรูปไข่ใช้เวลา 10 นาที
ชุดที่ 2 การวาดต่อเติมให้สมบูรณ์ จากสิ่งเร้าที่กำหนดให้ซึ่งเป็นเส้นลักษณะต่างๆ 10 ภาพ ใช้เวลา 10 นาที
ชุดที่ 3 การประกอบภาพ โดยใช้เส้นคู่ขนานเป็นส่วนสำคัญของภาพเป็นการต่อภาพจากเส้นคู่ขนาน จำนวน 30 คู่ แต่ละคู่มีความสูง 2.5 เซนติเมตร มีระยะห่าง 0.8 , 1.3 และ 1.7 เซนติเมตร จำนวน 3 , 12 และ 15 คู่ตามลำดับ ใช้เวลา 20 นาที ก่อนที่จะนำแบบทดสอบฉบับดังกล่าวไปใช้ ผู้ศึกษาได้นำมาตรวจสอบคุณภาพหาค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยงด้วยวิธีการทดสอบซ้ำ ( test – retest)
แบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์โดยใช้รูปภาพ แบบ เอ.ทอร์แรนซ์ (Torrance) ซึ่งดัดแปลงให้เหมาะกับเด็กไทยโดยอารี รังสินันท์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วย การวิเคราะห์ประสิทธิภาพของเครื่องมือ ด้วยใช้ค่า E1 / E2 ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบที ( t - test )
ผลการศึกษาพบว่า ค่าคะแนนเฉลี่ยจากการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนปรากฏว่าค่าที t= 47.75 ซึ่งมีค่าสูงกว่าค่าทีในตาราง ( df 27 = 2.473 ) แสดงว่า คะแนนเฉลี่ยจากคะแนนพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
เด็กปฐมวัยหลังได้รับการจัดกิจกรรมโดยใช้นิทานสร้างสรรค์มีคะแนนพัฒนาการผ่านเกณฑ์ร้อยละ 70 ของคะแนนเต็ม และเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมโดยใช้ชุดนิทานสร้างสรรค์ หลังการทดลองมีความคิดสร้างสรรค์สูงขึ้นกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01