ที่มาและความสำคัญ
จากการสำรวจสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในรายวิชาภาษาอังกฤษชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง พบว่าปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นบ่อยและเป็นพื้นฐานอันนำไปสู่การพัฒนาทักษะทางภาษาอังกฤษด้านต่าง ๆ คือ นักเรียนไม่สามารถอ่านและสะกดคำภาษาอังกฤษได้ สังเกตได้ว่านักเรียนส่วนใหญ่เขียนภาษาไทยกำกับไว้ใต้คำ ดังนั้น เมื่อนักเรียนอ่านคำใด ๆ จึงมักอ่านภาษาไทยแทนภาษาอังกฤษ ส่งผลให้นักเรียนไม่สามารถอ่านคำนั้นด้วยตนเองได้จริง ในทางกลับกัน นักเรียนที่อ่านคำได้อย่างถูกต้องด้วยความเข้าใจ จะสามารถสะกดคำเป็น ซึ่งนำไปสู่การอ่านและเขียนคำได้ตามลำดับ ดังนั้นการสะกดคำจึงเป็นพื้นฐานสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้สอนจะต้องวางพื้นฐานการสะกดคำให้นักเรียนเข้าใจโดยแท้จริง รวมถึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้อง สำหรับนักเรียนที่ไม่สามารถสะกดคำภาษาอังกฤษได้นั้นมีผลทำให้ทักษะการเรียนภาษาอังกฤษด้านอื่น ๆ ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ทางการศึกษาของโรงเรียนด้วยเช่นกัน ซึ่งแสดงให้เห็นจากผลการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2557 2559 ของโรงเรียนวัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง พบว่า ผลการทดสอบในรายวิชาภาษาอังกฤษอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับประเทศ คือ 31.78, 34.64 และ 29.45 ในปีการศึกษา 2557, 2558 และ 2559 ตามลำดับ โดยเป้าหมายที่กำหนดไว้ในการแก้ปัญหาในครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สามารถอ่านและสะกดคำภาษาอังกฤษได้ และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการใช้นวัตกรรม Phonics Flipbook เพื่อเพิ่มทักษะการอ่านสะกดคำ
การวางแผนการดำเนินงาน
1.ประชุม แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อค้นหาปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาและวางแผนออกแบบการสร้างนวัตกรรม
2.สร้างนวัตกรรม
3.ทดสอบการอ่านสะกดคำภาษาอังกฤษกับนักเรียนก่อนใช้นวัตกรรม
4.นำนวัตกรรมไปใช้ในกระบวนการเรียนการสอน โดยปฏิบัติตามขั้นตอนวงจรคุณภาพ PDCA
5.ทดสอบการอ่านสะกดคำภาษาอังกฤษกับนักเรียนหลังใช้นวัตกรรมและเปรียบเทียบผลทดสอบก่อนหลัง
6.สำรวจความพึงพอใจของนักเรียนต่อการใช้นวัตกรรมหลังจบบทเรียน
7.สรุปสะท้อนผลการปฏิบัติ แลกเปลี่ยนเสนอแนะร่วมกับกลุ่มทุกวันศุกร์และบันทึกลงใน logbook
วิธีการ/ ขั้นตอนการดำเนินงาน/ กระบวนการทำงาน
การปฏิบัติสู่นวัตกรรม
1.ข้าพเจ้านำข้อมูลสรุปที่ได้จากการแลกเปลี่ยนร่วมกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาอังกฤษไปใช้ในการออกแบบนวัตกรรมโดยใช้รูปแบบการสอนโฟนิคส์ ได้ Phonics Flip Book
2.สร้างนวัตกรรม ดังรายละเอียด วัสดุ / อุปกรณ์ ดังนี้
2.1 กระดาษ (สีตามต้องการ) ขนาด 5x5 ซ.ม.
2.2 ฟิวเจอร์บอร์ด ขนาด 30x8 ซ.ม. (สามารถดัดแปลงขนาดได้ตามความเหมาะสม) 1 แผ่น
2.3 ห่วงทอง / เงิน หรือห่วงจากพวงกุญแจ จำนวนตามต้องการ ขึ้นอยู่กับจำนวนพยางค์หรือตัวอักษร
2.4 ปากกาเคมี / ดินสอ / ที่เจาะกระดาษ / แผ่นรองตัด / คัตเตอร์
ขั้นตอนการสร้างนวัตกรรม :
1.ตัดกระดาษ (สีตามต้องการ) ขนาด 5x5 ซ.ม. จำนวนขึ้นอยู่กับจำนวนพยางค์หรือตัวอักษร
2.เขียนตัวอักษรลงบนกระดาษแต่ละแผ่น แบ่งเป็น 4 ชุด ดังนี้
ชุดที่ 1 คือ พยัญชนะ / พยัญชนะผสม
ชุดที่ 2 คือ สระ / สระผสม (เสียงสั้น / เสียงยาว)
ชุดที่ 3 คือ ตัวสะกด
ชุดที่ 4 คือ พยางค์ที่ทำให้คำเปลี่ยนความหมายเปลี่ยน
3.ตัดฟิวเจอร์บอร์ด ขนาด 20x8 ซ.ม. เจาะรูด้านบนฟิวเจอร์บอร์ด จำนวน 5 รู ความห่างแต่ละรู 6 ซ.ม.
4.นำกระดาษที่เตรียมไว้ 4 ชุดใส่ในห่วง ชุดละ 1 ห่วง ห่วงที่ 5 อาจใส่รูปภาพหรืออื่น ๆ ได้
นำใช้ในการฝึกอ่านสะกดคำ โดยนักเรียนสามารถสลับ (flip) แผ่นกระดาษที่ประกอบไปด้วยตัวอักษรที่สามารถสร้างคำได้ตามต้องการ ซึ่งเมื่อเปลี่ยนตัวอักษรในแต่ละตำแหน่ง คำที่ได้ก็จะเปลี่ยนรูปเสียงและการสะกดรวมทั้งความหมายด้วยเช่นกัน
การดำเนินงาน
1. กลุ่มเป้าหมาย นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง จำนวน 67 คน
2. ตัวแปรที่ศึกษา
ตัวแปรต้น คือ Phonics Flip Book นวัตกรรมเพื่อพัฒนาการอ่านสะกดคำ
ตัวแปรตาม คือ ทักษะการอ่านสะกดคำ
3. ระยะเวลา 21 กรกฎาคม ถึง 15 กันยายน 2560 รวมทั้งสิ้น 8 สัปดาห์
4. เนื้อหาที่ใช้ในการสอน ประกอบไปด้วย 3 หน่วย ได้แก่
หน่วยที่ 1 คำที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะเดี่ยว b, d, g, p และ s ลงท้ายด้วยพยัญชนะเดี่ยว b, d, m, n และ t โดยมี a, e, i, o และ u เป็นสระ
หน่วยที่ 2 คำที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะผสม bl, cl, gl, pl และ dr และลงท้ายด้วย ck, nk, ss, st และ sm โดยมี a, e, i, o และ u เป็นสระ
หน่วยที่ 3 นำตัวอักษร 3 ชุดจากหน่วย 1 สร้างคำแล้วเติมคำลงท้ายด้วย ic, ing, ed, en และ er
หลักการดำเนินงาน
ผู้สอนได้นำวงจรคุณภาพ PDCA มาใช้เพื่อเป็นหลักในการดำเนินงาน
ผลการดำเนินงาน/ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง
ผลจากการนำ Phonics Flipbook นวัตกรรมเพื่อเพิ่มทักษะการอ่านสะกดคำไปใช้ในกระบวนการเรียนการสอนตลอดระยะเวลา 5 สัปดาห์ ผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังนี้
เชิงปริมาณ
ทักษะการอ่านสะกดคำของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง ปีการศึกษา 2560 หลังการพัฒนามากกว่าก่อนการพัฒนา
เชิงคุณภาพ
นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง ปีการศึกษา 2560 มีความพึงพอใจต่อการใช้นวัตกรรม Phonics Flipbook เพื่อเพิ่มทักษะการอ่านสะกดคำในระดับมากที่สุด
ผลงานดีเด่นที่เป็นที่ประจักษ์ในการแก้ปัญหาและพัฒนานักเรียนให้มีผลสัมฤทธิ์สูงขึ้น
จากการนำนวัตกรรม Phonics Flipbook และรูปแบบการสอนโฟนิกส์ไปใช้จัดกระบวนการเรียนการสอนภาษาอังกฤษมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 ถึง ปีการศึกษา 2562 ส่งผลให้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในปีการศึกษา 2560 และปีการศึกษา 2561 มีค่าเฉลี่ยสูงขึ้นร้อยละ 7.81 และร้อยละ 10.75 ตามลำดับ ทั้งนี้มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศ ร้อยละ 0.29 และร้อยละ 7.96 ตามลำดับ
ผลสำเร็จที่เกิดจากการปฏิบัติงานต่อ นักเรียน / ครู / ผู้ที่เกี่ยวข้อง
ผลสำเร็จต่อนักเรียน
ข้าพเจ้าได้นำนวัตกรรมและเทคนิคการสอนนี้ไปใช้กับนักเรียนทุกระดับชั้นที่ข้าพเจ้าสอน ร่วมถึงนำไปใช้ในกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ภาษาอังกฤษ กิจกรรมชุมนุมภาษาอังกฤษ และกิจกรรมภาษาอังกฤษหน้าเสาธง ทั้งนี้ได้แนะนำนำนวัตกรรมและเทคนิคการสอนนี้ให้แก่ครูท่านอื่น ๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในรายวิชาการสอนของตนได้ เช่น รายวิชาภาษาไทย รายวิชาคณิตศาสตร์ เป็นต้น
ผลสำเร็จต่อครู
ข้าพเจ้าได้นำเทคนิคการสอนและนวัตกรรมนี้ไปเผยแพร่และแบ่งปันต่อครูผู้สอนภาษาอังกฤษในจังหวัดกาญจนบุรีในงานการประกวดผลงานชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพสู่ผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ปีการศึกษา 2560 ประเภทนวัตกรรมการพัฒนานักเรียน ทั้งนี้ ข้าพเจ้าได้รับรางวัลเหรียญทองรองชนะเลิศ อันดับ 1 การประกวดผลงานชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพสู่ผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ปีการศึกษา 2560 ประเภทนวัตกรรมการพัฒนานักเรียน รางวัลคุณภาพดีเยี่ยม ในงานดังกล่าวอีกด้วย
ผลสำเร็จต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง
สืบเนื่องจากข้าพเจ้าได้เข้าร่วมการอบรมโครงการพัฒนาครูแกนนำด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษระดับภูมิภาค (Boot Camp) ระหว่างวันที่ 26 มิถุนายน ถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2560 ณ โรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ จังหวัดกาญจนบุรีนั้น บริติช เคาซิล (ประเทศไทย) ผู้ดูแลการอบรมดังกล่าวร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการได้คัดเลือกให้ข้าพเจ้าสาธิตการสอนในห้องเรียน เพื่อใช้เป็นสื่อวิดีโอประกอบการอบรมในปีงบประมาณ 2561ผู้สอนได้นำนวัตกรรม Phonics Flipbook นี้มาใช้ในการเรียนการสอน ณ ขณะที่มีการถ่ายทำ เพื่อเป็นการเผยแพร่นวัตกรรมที่ใช้ได้ผลจริงกับผู้เรียน คณะผู้ถ่ายทำได้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกระบวนการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน ผู้สอนได้นำเสนอเทคนิคต่าง ๆ รวมถึงการนำนวัตกรรมชิ้นนี้ไปใช้ในชั้นเรียนด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ British Council ได้นำวิดีโอการสอนดังกล่าว ไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ขององค์กร เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบนวัตกรรมและกระบวนการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษแก่ครูผู้สอนภาษาอังกฤษทั่วโลก
3. สรุปประโยชน์ที่ได้รับจากผลงาน และข้อเสนอแนะ
ผลแห่งการพัฒนาการเรียนการสอนทำให้เกิดนวัตกรรม Phonics Flipbook ซึ่งทำให้ข้าพเจ้ามีเทคนิคและวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพ จนทำให้ได้รับรางวัลเหรียญทองรองชนะเลิศ อันดับ 1 การประกวดผลงานชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพสู่ผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ปีการศึกษา 2560 ประเภทนวัตกรรมการพัฒนานักเรียน รางวัลคุณภาพดีเยี่ยม ทั้งนี้ ได้เผยแพร่ผลงานเพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบนวัตกรรมและกระบวนการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษแก่ครูผู้สอนภาษาอังกฤษทั้งในจังหวัดกาญจนบุรี ทั่วประเทศไทยและทั่วโลกผ่านทางเว็บไซต์บริติช เคาซิล ประเทศไทย
การสอนแบบโฟนิคส์จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อนำไปสอนนักเรียนกลุ่มเล็กหรือรายบุคคล ทั้งนี้ควรเริ่มสอนตั้งแต่ระดับปฐมวัย และผู้สอนควรใช้เวลานอกชั้นเรียนเพื่อฝึกฝนนักเรียนเพิ่มเติม นวัตกรรม Phonics Flipbook เพื่อเพิ่มทักษะการอ่านสะกด การเตรียมนวัตกรรมต้องใช้ระยะเวลา ดังนั้นผู้สอนจำเป็นต้องวางแผนตามขั้นตอน PDCA ให้ดีเพื่อไม่ให้กระบวนการดำเนินงานติดขัด ทั้งนี้ สามารถใช้นวัตกรรมนี้ต่อยอดไปสู่การพัฒนาทักษะการอ่านเพื่อทำความเข้าใจ ทักษะการเขียนสะกดคำและการเขียนประโยคต่อไป