ชื่อผลงาน การประเมินโครงการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ตามแนวแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจ
พอเพียง โรงเรียนบ้านใบหนา อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
ชื่อผู้รายงาน ปรีชา พูลทาจักร์
ปีที่ศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ตามแนวแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านใบหนา อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในด้านบริบท ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต ประชากรที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ ครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 145 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ประกอบด้วย แบบสอบถาม จำนวน 4 ฉบับ และแบบสัมภาษณ์ จำนวน 3 ฉบับ ที่ได้ตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือโดยผู้เชี่ยวชาญ นำมาวิเคราะห์หาค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) ทดลองใช้และนำผลการทดลองใช้มาวิเคราะห์หาค่าความเชื่อมั่น เก็บรวบรวมข้อมูลทั้งก่อนการดำเนินงานโครงการ ระหว่างการดำเนินงาน และเมื่อสิ้นสุดโครงการ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าความถี่ (Frequency) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ส่วนข้อมูลจากแบบสอบถามปลายเปิด และแบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการประเมิน พบว่า
1. ผลการประเมินโครงการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ตามแนวแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านใบหนา อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ในด้านบริบท พบว่า โดยภาพรวม ผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด และผลการประเมินยังพบว่า วัตถุประสงค์ของโครงการมีความชัดเจน สอดคล้องกับสภาพความต้องการของโรงเรียน เป้าหมายโครงการสอดคล้องกับนโยบายของโรงเรียน และสามารถนำไปปฏิบัติให้สำเร็จได้
2. ผลการประเมินโครงการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ตามแนวแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านใบหนา อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ด้านปัจจัยเบื้องต้น พบว่า โดยภาพรวมผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด และผลการประเมินยังพบว่า ด้านบุคลากรมีความพร้อมอยู่ในระดับมากที่สุด ด้านวัสดุและอุปกรณ์และอาคารสถานที่ และด้านแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นมีความเหมาะสมในระดับมาก ยกเว้นด้านงบประมาณมีความเหมาะสมในระดับปานกลาง ส่วนปัญหาและอุปสรรคในด้านปัจจัยเบื้องต้น พบว่า งบประมาณไม่เพียงพอ ขาดสื่อและเทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอน ไฟฟ้าไม่เพียงพอ ครูภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิทยากรภายนอกขาดความรู้ ความเข้าใจและทักษะในการจัดการเรียนการสอน ขาดวัสดุและอุปกรณ์สำหรับการฝึกงานอาชีพ คอมพิวเตอร์ และระบบอินเทอร์เน็ตไม่เพียงพอ
3. ผลการประเมินโครงการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ตามแนวแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านใบหนา อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ด้านกระบวนการ พบว่า โดยภาพรวมผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด และเมื่อพิจารณาการดำเนินงานในขั้นการวางแผน พบว่า มีการศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการ มีการกำหนดนโยบายน้อมนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาบูรณาการในแผนปฏิบัติงานประจำปี ขั้นดำเนินงานตามแผน พบว่า มีการจัดทำหลักสูตรเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้แนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา และการจัดสภาพแวดล้อมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตามแนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการจัดการเรียนรู้โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ในขั้นการนิเทศและติดตามผล พบว่า มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนิเทศ ติดตามและประเมินผล จัดระบบนิเทศ ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามโครงการ และขั้นปรับปรุงและพัฒนา พบว่า มีนำข้อมูลจากการรายงานผลการดำเนินงานมาใช้ปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงาน และมีการประชุมวางแผนเพื่อปรับปรุงและพัฒนางาน นอกจากนี้จากการสัมภาษณ์นักเรียน พบว่า มีหน่วยการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง มีการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน เรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ทั้งในและนอกโรงเรียน จัดกิจกรรมชุมนุม และส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ส่วนปัญหาในด้านกระบวนการ พบว่า ขาดการประสานงานและร่วมมือกันจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขาดการนิเทศ กำกับติดตามและประเมินผลการดำเนินงานโครงการอย่างต่อเนื่อง และขาดการรายงานผลการจัดการเรียนรู้
4. ผลการประเมินโครงการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ตามแนวแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านใบหนา อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ในด้านผลผลิต พบว่า โดยภาพรวม ผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด นอกจากนี้ผลการประเมินยังพบว่า โรงเรียนพัฒนาสภาพแวดล้อมของโรงเรียนให้เป็นแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ผู้เรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตร สามารถนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีความพึงพอใจต่อกิจกรรมในโครงการ และพึงพอใจที่มีต่อคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน