ชื่อผลงาน การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์ทักษะการคิดสืบเสาะหาความรู้ สำหรับ
นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล ๑ (ถนนภูผาภักดี)
ผู้รายงา นางธันยาภรณ์ เพชรโยธา
ปีที่รายงาน 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรูปแบบการจัดประสบการณ์ทักษะการคิดสืบเสาะหาความรู้สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล ๑ (ถนนภูผาภักดี) และเพื่อประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดประสบการณ์ทักษะการคิดสืบเสาะหาความรู้สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ด้วยการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีขั้นตอนดำเนินการดังนี้ ตอนที่ 1 สร้างโครงร่างรูปแบบการจัดประสบการณ์ทักษะการคิดสืบเสาะหาความรู้สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โดยการสังเคราะห์เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ 5 คน และทดลองประเมินโดยการวิจัยเชิงปฏิบัติ (Action Research) กับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านบาเละฮิเล) สำนักการศึกษา เทศบาลเมืองนราธิวาส ตอนที่ 2 ศึกษานำร่องรูปแบบการจัดประสบการณ์โดยทดลองใช้กับนักเรียนชั้นอนุบาล ปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 2 ห้องเรียน ที่โรงเรียนเทศบาล ๓ (บ้านยะกัง) สำนักการศึกษา เทศบาลเมืองนราธิวาส ตอนที่ 3 ทดสอบประสิทธิภาพรูปแบบการจัดประสบการณ์ทักษะการคิดสืบเสาะหาความรู้สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โดยใช้แบบแผนการวิจัยแบบ One-Group Pretest-Posttest Design ซึ่งกลุ่มตัวอย่างเป็นครูปฐมวัยและนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ของโรงเรียนเทศบาล ๑ (ถนนภูผาภักดี) สำนักการศึกษา เทศบาลเมืองนราธิวาส กลุ่มตัวอย่างใช้ระยะเวลาในการทดลอง รวม 12 สัปดาห์ จัดประสบการณ์ 10 หน่วยการเรียนรู้ ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 ปรับปรุงรูปแบบการจัดประสบการณ์ทักษะการคิดสืบเสาะหาความรู้สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ให้เป็นฉบับสมบูรณ์
ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้
1. รูปแบบการจัดประสบการณ์ทักษะการคิดสืบเสาะหาความรู้สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วยกระบวนการเรียนการสอน 4 ขั้นตอนดังนี้
ขั้นที่ 1 การเริ่มต้นคิด เป็นขั้นเริ่มต้นด้วยการกระตุ้นให้เด็กเกิดความรู้อยากเห็นโดยใช้ประสาทสัมผัสอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างกับวัสดุอุปกรณ์หรือสถานการณ์ แล้วสื่อสารสิ่งที่คิดด้วยการพูดหรืออธิบาย และกระตุ้นให้สะท้อนสิ่งที่คิดด้วยการบอกเหตุผลที่คิด
ขั้นที่ 2 การสร้างความคิด เป็นขั้นกระตุ้นให้คิดย้อนกลับด้วยการทดลอง กระตุ้นให้คิดค้นหาคำตอบที่ถูกต้อง กระตุ้นให้ทดสอบซ้ำ และกระตุ้นให้คิดทบทวนจุดบอดของความไม่เข้าใจตั้งแต่เริ่มต้นคิด
ขั้นที่ 3 การประมวลความคิด เป็นขั้นการกระตุ้นให้เด็กบอกข้อความรู้ด้วยการคิดย้อนกลับไปที่ขั้นเริ่มต้นคิดและขั้นสร้างความคิด
ขั้นที่ 4 การขยายความคิด เป็นขั้นการกระตุ้นให้ขยายความคิดโดยใช้คำถามว่า ถ้า กระตุ้นให้ค้นหาคำตอบเพื่อยืนยันความคิด และกระตุ้นให้ทดสอบความคิดใหม่อย่างอิสระ
2. การประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดประสบการณ์ทักษะการคิดสืบเสาะหาความรู้สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ผลการประเมินพบว่า
2.1 นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 มีทักษะการคิดสืบเสาะหาความรู้หลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์ทักษะการคิดสืบเสาะหาความรู้สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ,01
2.2 ผลการประเมินความพึงพอใจต่อการเรียนรู้ โดยการสนทนากับนักเรียนชั้นอนุบาล ปีที่ 3 จำนวน 25 คน พบว่า หลังการทดลองนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 มีความพึงพอใจต่อการเรียนรู้ในระดับมาก มีจำนวนร้อยละ 71.11
2.3 ครูปฐมวัยที่ทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์เห็นว่ารูปแบบการจัดประสบการณ์มีความเหมาะสมในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย 2.71