1. เป้าหมาย / วัตถุประสงค์ของการพัฒนา BP
1) เพื่อให้นักเรียนโรงเรียนบ้านท่าโรงใจได้รับการดูแลช่วยเหลือตามขั้นตอนการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน
2) เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการโรงเรียนบ้านท่าโรงใจให้มีการดำเนินงานตามระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน
2. ระยะเวลาในการพัฒนา BP ปีการศึกษา 2562
3. ความเชื่อมโยง/ความสัมพันธ์ระหว่าง BP กับเป้าหมาย/จุดเน้นของสพป./สพฐ./สถานศึกษา
BP มีความเชื่อมโยงกับเป้าหมายของโรงเรียนบ้านท่าโรงใจและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 3 ที่ตระหนักถึงความสำคัญและถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องจัดกระบวนการเรียนรู้ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ และเพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหาได้สามารถพัฒนาได้ทันนักเรียนคนอื่นๆ และสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษเหนือกว่านักเรียนวัยเดียวกันก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับการสนับสนุนในสิ่งที่ตนเองชอบและสนใจอีกด้วย
4. แนวคิด หลักการ ทฤษฎีที่นำมาใช้ในการพัฒนา BP
ความเป็นมา พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ได้กำหนดความมุ่งหมายและหลักการจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข โดยยึดหลักการว่าทุกคนมีความสามารถ เรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน เป็นกระบวนการดำเนินงานที่มีแบบแผนขั้นตอนชัดเจนในการส่งเสริม พัฒนา ป้องกันและแก้ไขปัญหาให้นักเรียนได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพบนพื้นฐานความแตกต่างระหว่างบุคคล
จากสภาพปัญหา โรงเรียนบ้านท่าโรงใจ ปรากฏว่า มีนักเรียนออกกลางคัน ร้อยละ ๑๒.๙๐ ครอบครัวแตกแยก หย่าร้าง ร้อยละ ๑๙.๕๗ และผู้ปกครองมีรายได้น้อย ยากจน ร้อยละ ๖๐ จึงตระหนักและเห็นความสำคัญของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน จึงได้ศึกษาปัญหา แนวทางการดำเนินงานโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน มีการดำเนินงานโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน มีครบทุกขั้นตอน เพื่อนำผลที่ได้มาเป็นแนวทางในการบริหารโรงเรียน แนวทางในการพัฒนาโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน เพื่อพัฒนาโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้มีประสิทธิภาพ อันจะช่วยให้เกิดการพัฒนาพฤติกรรมของนักเรียนให้ตรงตามคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของโรงเรียนและเติบโตเป็นเยาวชนที่ดีของสังคมและประเทศชาติต่อไป
การพัฒนาระบบคุณภาพของสถานศึกษา ในการดำเนินการพัฒนาระบบคุณภาพของโรงเรียนบ้านท่าโรงใจได้ใช้นวัตกรรมการบริหารสถานศึกษาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนด้วย BTS Model มาใช้ในการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยมีการวางแผนการดำเนินงาน ตั้งแต่ศึกษานโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด จัดทำโครงการ ประชุมชี้แจงการดำเนินงาน ดำเนินโครงการตามกรอบการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ตั้งแต่การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล การคัดกรองนักเรียน การพัฒนาและการส่งเสริม การป้องกันและแก้ไขปัญหา จนกระทั่งการส่งต่อ จากการดำเนินงานตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน กล่าวคือ ผู้เรียนได้ดำเนินการประเมินตนเอง เมื่อครูแปลผลการประเมินตนเองของผู้เรียนจะทำให้ทราบพฤติกรรมของผู้เรียนและหากมีพฤติกรรมที่เสี่ยงเกินการแก้ไขในโรงเรียน โรงเรียนก็จะดำเนินการส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญภายในเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา จากการดำเนินงานส่งผลให้โรงเรียนได้พัฒนาระบบการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้เข้มแข็งและนักเรียนจะได้รับการดูแล ช่วยเหลือ พัฒนา ส่งเสริม ป้องกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้เป็นเยาวชนที่มีคุณภาพตามความต้องการของสังคม
5.กระบวนการพัฒนา BP
5.1 กลุ่มเป้าหมายในการนำ BP ไปใช้ คือ ผู้บริหาร ครู นักเรียน และโรงเรียนบ้านท่าโรงใจ
5.2 ขั้นตอนการพัฒนา BP
1. ขั้นเตรียมการ (B)
1.1 ศึกษานโยบายของโรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษาและสพฐ.ในส่วนที่เกี่ยวข้อง
กับโครงการฯ
1.2 ศึกษาผลการดำเนินโครงการฯ ในปีที่ผ่านมา
1.3 ศึกษาบริบทและสภาพความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการฯ
1.4 จัดทำโครงการฯ นำเสนอต่อฝ่ายบริหาร
2. ขั้นดำเนินการ (T)
2.1 ประชุมคณะทำงานเพื่อชี้แจงโครงการฯ และมอบหมายภาระงาน
2.2 ดำเนินงานตามโครงการฯ กิจกรรมระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน
- กิจกรรมรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล กิจกรรมเยี่ยมบ้านนักเรียน กิจกรรมจัดเก็บข้อมูล
- กิจกรรมคัดกรองข้อมูลนักเรียน กลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่มีปัญหา
- กิจกรรมส่งเสริม/พัฒนา/ป้องกัน/แก้ไข จัดระบบช่วยเหลือตามภาวะเสี่ยงของนักเรียน
- กิจกรรมการส่งต่อ
3. ขั้นนิเทศติดตามผลประเมินและรายงานผล (S)
ผู้รับผิดชอบโครงการฯ นิเทศติดตามการดำเนินงาน และคอยอำนวยความสะดวก
ในการดำเนินกิจกรรมของผู้เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามภาระงานที่โครงการฯ กำหนด สรุปประเมินโครงการฯ
และจัดทำรายงานโครงการฯ
5.3 การตรวจสอบคุณภาพ BP นิเทศ กำกับ ติดตามโดยผู้บริหาร และสำรวจความพึงพอใจของชุมชน โดยการสังเกตและสัมภาษณ์
5.4 แนวทางนำ BP ไปใช้ประโยชน์
1. ผู้บริหารสามารถนำ ไปพัฒนาไปพัฒนา ครูและบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และโรงเรียนได้ตามจุดประสงค์และเป้าหมายของโรงเรียนได้อย่างครบถ้วน
2. ครูและบุคลากรทางการศึกษา ดำเนินงานตามแผนงานที่วางไว้
3. ผู้บริหาร กำกับ ติดตาม และประเมินผลการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6. ผลสำเร็จที่เกิดจากการพัฒนา BP
6.1 ผลสำเร็จเชิงปริมาณ สถานศึกษา ผู้บริหาร ครู นักเรียน และโรงเรียนได้รับการยกย่องเป็นประกาศเกียรติคุณในระดับต่าง ๆ อย่างน้อย 1 รางวัลต่อปีการศึกษา จนเกิดขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน
6.2 ผลสำเร็จเชิงคุณภาพ นักเรียนโรงเรียนบ้านท่าโรงใจได้รับการดูแลช่วยเหลือตามขั้นตอนการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ร้อยละ 100