หัวข้องานวิจัย รูปแบบการนิเทศภายในเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครู
โรงเรียนราษีไศล (RASISALAI Model)
ผู้วิจัย นางสุกัญญา ชะบาราษีบุษย์
หน่วยงานที่รับผิดชอบ โรงเรียนราษีไศล
การวิจัยในครั้งนี้มีจุดประสงค์ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานและสภาพความต้องการรูปแบบ
การนิเทศภายในเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูโรงเรียนราษีไศล 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการนิเทศภายในเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูโรงเรียนราษีไศล 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการนิเทศภายในเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูโรงเรียนราษีไศล 4) เพื่อประเมินผลกระทบการใช้รูปแบบการนิเทศภายในเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูโรงเรียนราษีไศล ประชากรที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ 1) กลุ่มผู้ร่วมวิจัย จำนวน 98 คน ประกอบด้วย
รองผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 3 คน ครูผู้สอนโรงเรียนราษีไศล จำนวน 95 คน 2) กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ครูผู้สอนที่เป็นกลุ่มผู้ร่วมวิจัย จำนวน 95 คน 3) กลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญจำนวน 100 คน ประกอบด้วย ศึกษานิเทศก์พี่เลี้ยง ที่ร่วมกำกับ ติดตาม ให้คำปรึกษาและนิเทศภายในเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูโรงเรียนราษีไศล จำนวน 2 คน และกลุ่มผู้ร่วมวิจัย จำนวน 98 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่ แบบวิเคราะห์เอกสาร แบบสัมภาษณ์ แบบประเมิน แบบสังเกต แบบทดสอบ แบบสอบถาม แบบบันทึกประเด็นสนทนากลุ่มและแบบบันทึกผลสัมฤทธิ์ทาง
การเรียน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ ค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย (x ̅) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D)
การทดสอบค่าที (t-test) และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานและสภาพความต้องการรูปแบบการนิเทศภายในเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูโรงเรียนราษีไศล พบว่า กฎหมาย นโยบาย และแนวคิดทฤษฎีทางการศึกษา ในระดับต่างๆ ล้วนให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 54 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 52 ข้อเสนอแนะในการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2
พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษาพุทธศักราช 2546 มาตรา 49 ได้กำหนดสาระและสมรรถนะในเรื่องต่างๆ ไว้ 9 เรื่อง เช่น การพัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ จิตวิทยาสำหรับครู
การบริหารจัดการในชั้นเรียน และการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาทั้งตัวครูและผู้เรียน เป็นต้น ส่วนการวิเคราะห์สภาพปัจจุบันและสภาพ ความต้องการเสริมสร้างสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูโรงเรียนราษีไศล พบว่า ปัญหาที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนคือ ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานยังต่ำ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ ครู ยังขาดความรู้
ความเข้าใจและไม่ได้รับการพัฒนาในด้านสมรรถนะการจัดการเรียนรู้อย่างจริงจัง จากข้อมูลพื้นฐานและสภาพความต้องการดังกล่าวจึงนำมาสู่การพัฒนารูปแบบการนิเทศภายในเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการจัด การเรียนรู้ของครูโรงเรียนราษีไศล
2. การพัฒนารูปแบบการนิเทศภายในเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูโรงเรียนราษีไศล ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การศึกษาวิเคราะห์ 2) การออกแบบและการพัฒนา
3) การทดลองใช้รูปแบบ และ 4) การประเมินผลและปรับปรุงรูปแบบ ผลการออกแบบและพัฒนาได้รูปแบบการนิเทศภายในเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูโรงเรียนราษีไศล (RASISALAI Model) ซึ่งมีองค์ประกอบหลัก 9 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 R : Review Needs ศึกษาสภาพปัญหาและ
ความต้องการ ขั้นที่ 2 A : Analysis of Curriculum วิเคราะห์หลักสูตร ขั้นที่ 3 S : Study O-NET Examination วิเคราะห์ข้อสอบ O-NET ขั้นที่ 4 I : Individual Growth วิธีจัดการเรียนรู้ ขั้นที่ 5 S : Study Lesson Plan การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ ขั้นที่ 6 A : Action Learning การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ขั้นที่ 7 L : Level of Quality การวัดและประเมินผล ขั้นที่ 8 A : Assess Professional สรุป อภิปรายผล ขั้นที่ 9 I : Impact Information การย้อนกลับข้อมูล
3. ผลการใช้รูปแบบการนิเทศภายในเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูโรงเรียนราษีไศล พบว่า
3.1 ผลการทดสอบความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ยอมรับสมมติฐานการวิจัยข้อ 1 โดยหลังการใช้รูปแบบการนิเทศภายในเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูโรงเรียนราษีไศล (RASISALAI Model) ( x ̅ = 35.37, S.D. = 1.47 ) สูงกว่า ก่อนการใช้รูปแบบการนิเทศภายในเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูโรงเรียนราษีไศล (RASISALAI Model) ( x ̅ = 23.83 , S.D. = 1.26)
3.2 ผลการประเมินแผนการจัดการเรียนรู้ โดยรวมมีค่าอยู่ในระดับ สูงมาก ( x ̅ = 4.78, S.D. = 0.44) ยอมรับสมมติฐานการวิจัยข้อ 2
3.3 ผลการสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยรวมมีค่าอยู่ในระดับ สูงมาก (x ̅ = 4.67,S.D. = 0.48) ยอมรับสมมติฐานการวิจัยข้อที่ 2
4. การประเมินผลกระทบการใช้รูปแบบการนิเทศภายในเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะ
การจัดการเรียนรู้ของครูโรงเรียนราษีไศล พบว่า
4.1 ความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการนิเทศภายในเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการจัด
การเรียนรู้ของครูโรงเรียนราษีไศล (RASISALAI Model) โดยภาพรวม อยู่ในระดับสูงมาก
(x ̅ = 4.76,S.D. = 0.42 ) ยอมรับสมมติฐานการวิจัยข้อ 3
4.2 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน โดยเปรียบเทียบระหว่างผลสัมฤทธิ์ปีการศึกษา
ที่วิจัยกับผลสัมฤทธิ์ในปีการศึกษาที่ผ่านมา
4.2.1 ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2561 มีค่าเฉลี่ยสูงกว่า ปีการศึกษา 2560 จำนวน 3 กลุ่มสาระ
การเรียนรู้ มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่า ปีการศึกษา2560 จำนวน 1 กลุ่มสาระการเรียนรู้
4.2.2 ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2561 มีค่าเฉลี่ยสูงกว่า ปีการศึกษา2560 จำนวน 4 กลุ่มสาระ
การเรียนรู้ มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่า ปีการศึกษา2560 จำนวน 1 กลุ่มสาระการเรียนรู้
4.2.3 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ที่ระดับ .05 โดยหลังการใช้รูปแบบการนิเทศภายในเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูโรงเรียนราษีไศล (RASISALAI Model) ในปีการศึกษา 2561 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน มีค่าเฉลี่ย ( x ̅ = 3.15, S.D. = 0.89 ) สูงกว่า ก่อนการใช้รูปแบบการนิเทศภายในเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูโรงเรียนราษีไศล (RASISALAI Model) ในปีการศึกษา 2560
( x ̅ = 3.12, S.D. = 0.96) ยอมรับสมมติฐานการวิจัย ข้อที่ 4
4.2.4 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
ทางสถิติ โดยหลังการใช้รูปแบบการนิเทศภายในเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูโรงเรียนราษีไศล (RASISALAI Model) ในปีการศึกษา 2561 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน
มีค่าเฉลี่ย ( x ̅ = 3.24, S.D. = 0.94 ) สูงกว่า ก่อนการใช้รูปแบบการนิเทศภายในเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูโรงเรียนราษีไศล (RASISALAI Model) ในปีการศึกษา 2560
( x ̅ = 3.15, S.D. = 0.90) ยอมรับสมมติฐานการวิจัย ข้อที่ 4
4.3 ผลจากการสนทนากลุ่มร่วมกัน โดยผู้วิจัย ผู้เชี่ยวชาญ ศึกษานิเทศก์พี่เลี้ยง คณะกรรมการนิเทศภายใน ผู้บริหารและครูกลุ่มเป้าหมาย สรุปว่า รูปแบบการนิเทศภายในเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูโรงเรียนราษีไศล (RASISALAI Model) ทุกองค์ประกอบมี ความเหมาะสม และสอดคล้องซึ่งกันและกัน เป็นกระบวนการที่มีประโยชน์มาก มีความต่อเนื่องและสัมพันธ์กันของแต่ละขั้นตอน ทำให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านการพัฒนางานและองค์ความรู้ โดยครูต้องมีความมุ่งมั่นจริงใจในการพัฒนาการเรียนการสอนด้วยความเต็มใจร่วมมือกัน มีความรับผิดชอบใน การทำงานและมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ผู้บริหารตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรครู
ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ สื่อ อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกและสร้างขวัญกำลังใจให้กับครู เพื่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้อย่างเต็มศักยภาพของแต่ละบุคคล