การพัฒนารูปแบบการนิเทศ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน ของครูโรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
ผู้วิจัย นางกรกมล เพิ่มผล ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
ปีที่พิมพ์ 2562
บทคัดย่อ
การพัฒนารูปแบบการนิเทศ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะครูด้านการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน ของครูโรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการนิเทศ 2) เพื่อศึกษาผลการทดลองใช้รูปแบบการนิเทศ ประกอบด้วย 2.1) เปรียบเทียบความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน ระหว่างก่อนและหลังการใช้รูปแบบการนิเทศ 2.2) ประเมินสมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานของครู 2.3 สอบถามความคิดเห็นของผู้เข้ารับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ 2.4 ประเมินความสามารถในการนิเทศของครูผู้นิเทศ 2.5 ประเมินคุณภาพผลงานโครงงานของนักเรียน 3) เพื่อประเมินรูปแบบการนิเทศ ประกอบด้วย 3.1) ประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบการนิเทศ 3.2) สอบถามความพึงพอใจต่อการใช้รูปแบบการนิเทศ ผู้วิจัยได้ดำเนินการวิจัยตามรูปแบบการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีขั้นตอนของการดำเนินงาน 4 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐานและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนารูปแบบการนิเทศ ดำเนินการโดย 1) การศึกษาเอกสาร แนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 2) การจัดกลุ่มสนทนา (Focus Group) ขั้นตอนที่ 2 การสร้างและตรวจสอบคุณภาพรูปแบบการนิเทศ ดำเนินการโดย 1) ร่างโครงร่างรูปแบบการนิเทศ 2) ตรวจสอบความสมเหตุสมผลเชิงทฤษฎี ความเป็นไปได้และความสอดคล้องของรูปแบบการนิเทศ ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบการนิเทศ ดำเนินการโดยนำรูปแบบการนิเทศที่แก้ไขปรับปรุงแล้ว ไปทดลองใช้กับครูโรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี จำนวน 41 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive sampling) แบบแผนการทดลองใช้รูปแบบการทดลองแบบกลุ่มเดียวทดสอบก่อนและหลังการทดลอง (One Group Pretest-Posttest Design) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ 1) แบบทดสอบวัดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน เป็นแบบเลือกตอบชนิด 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ มีค่าความยากง่ายอยู่ระหว่าง 0.30 - 0.70 มีค่าอำนาจจำแนกอยู่ระหว่าง 0.26 - 0.77 และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.95 2) ประเมินสมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานของครู เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ มีค่าอำนาจจำแนกรายข้อและมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ 0.83 3) แบบสอบถามความคิดเห็นของผู้เข้ารับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ มีค่าอำนาจจำแนกและมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ 0.80 4) แบบประเมินความสามารถในการนิเทศ เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ มีค่าอำนาจและมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ 0.86 5) แบบประเมินคุณภาพผลงานโครงงานของนักเรียน เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ มีค่าอำนาจจำแนกและมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ 0.84 ขั้นตอนที่ 4 การประเมินรูปแบบการนิเทศ ดำเนินการโดย 1) ประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบการนิเทศ 2) สอบถามความพึงพอใจต่อการใช้รูปแบบการนิเทศ เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ แบบประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบการนิเทศ และแบบสอบถามความพึงพอใจต่อการใช้รูปแบบการนิเทศ เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ มีค่าอำนาจและมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ 0.83 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที
ผลการวิจัย พบว่า
1. การพัฒนารูปแบบการนิเทศ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน ของครูโรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี พบว่ารูปแบบการนิเทศ มีองค์ประกอบ 8 ส่วน คือ 1) ความเป็นมาและความสำคัญของรูปแบบ 2) หลักการของรูปแบบ 3) ลักษณะสำคัญของรูปแบบ 4) วัตถุประสงค์ 5) โครงสร้างเนื้อหา 6) กระบวนการนิเทศ 7) การประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบ และ 8) สภาพบ่งชี้การบรรลุเป้าหมาย กระบวนการนิเทศมีชื่อเรียกว่า PETER Model ประกอบด้วยกระบวนการ 5 ขั้น คือ 1) การวางแผน (Planning) 2) การอบรม (Educate) 3) การปฏิบัติ (Take Action) 4) การประเมินผล (Evaluate) 5) การสะท้อนผล (Reflection)
2. การศึกษาผลการใช้รูปแบบการนิเทศ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้
แบบโครงงาน สำหรับครูโรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ประกอบด้วย
2.1 ผลการเปรียบเทียบคะแนนการทดสอบวัดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน ระหว่างก่อนและหลังการใช้รูปแบบการนิเทศ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2.2 ผลการประเมินสมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานของครู อยู่ในระดับ
มาก (ค่าเฉลี่ย = 4.21, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.77)
2.3 ผลการสอบถามความคิดเห็นของครูผู้เข้ารับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ
โดยรวมอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย = 4.30, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.85)
2.4 ผลการประเมินความสามารถในการนิเทศ โดยรวม อยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย =
4.31, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.59)
2.5 ผลการประเมินคุณภาพผลงานโครงงานของนักเรียนผล โดยรวมอยู่ในระดับ ดี
(คะแนนเฉลี่ย = 4.41)
3. ผลการประเมินรูปแบบการนิเทศ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน ของครูโรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
3.1 ผลการประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบการนิเทศ พบว่า รูปแบบการนิเทศ
มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานการประเมิน ด้านการใช้ประโยชน์ ด้านความเป็นไปได้ ด้านความเหมาะสม และด้านความถูกต้อง โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย = 4.41, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.31)
3.2 ผลการสอบถามความพึงพอใจต่อการใช้รูปแบบการนิเทศ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน ของครูโรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี โดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย = 4.23, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.30)