วิจัยในชั้นเรียน
ชื่องานวิจัย ผลการพัฒนาแบบฝึกทักษะการเขียนเรื่องจากภาพ เพื่อส่งเสริมทักษะ การเขียนเรื่องจากภาพ
ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านโคกพยอม
ชื่อผู้วิจัย นางนิตยา จันทวดี
กลุ่มสาระการเรียนรู้ ภาษาไทย ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติไทยที่จำเป็น ในการสื่อสารของมนุษย์ การจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยในโรงเรียนจึงนับว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะช่วยให้เยาวชนของชาติตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทยแล้ว ภาษาไทยยังเป็นพื้นฐานที่คนไทยทุกคนใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความจำเป็นดังกล่าวหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 จึงกำหนดให้สาระการเรียนรู้ภาษาไทยเป็นสาระการเรียนรู้ ที่สถานศึกษาต้องใช้เป็นหลักในการเรียนการสอนเพื่อสร้างพื้นฐานการคิด และใช้เป็นกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาและวิกฤติของชาติ โดยได้กำหนดสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนมีทักษะด้านการอ่าน การเขียน การฟัง และการพูด เพื่อนำไปใช้แสวงหาความรู้และสื่อความคิด ความเข้าใจ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตประจำวันในทักษะทั้ง 4 ด้านคือ ทักษะด้านการฟัง การพูด การอ่านและการเขียนนั้น ทักษะการเขียนเป็นทักษะหนึ่งที่มีความสำคัญ เนื่องจากต้องใช้ในการสื่อสาร เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้และการศึกษา การเขียนเรื่องจากภาพ เป็นทักษะการเขียนประเภทหนึ่งที่จำเป็นต่อการเรียน เนื่องจากการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (0-NET)
กลุ่มสาระภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปี การศึกษา 2561 วัดสาระการเขียนในมาตรฐานการเรียนรู้ ท 2.1 ตัวชี้วัด ใช้กระบวนการเขียน เขียนสื่อสาร เขียนเรียงความ ย่อความ เขียนเรื่องราวในรูปแบบต่างๆ วัดชี้วัด ป.6/2 เขียนสื่อสาร โดยใช้คำได้ถูกต้องชัดเจนและเหมาะสมวัดตัวชี้วัด ป6/8 เขียนเรื่องตามจินตนาการและสร้างสรรค์ (วัดพฤติกรรม/ ระดับความคิดด้านสังเคราะห์/ความคิดสร้างสรรค์) ผู้วิจัยได้จัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย ในฐานะครูผู้สอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านโคกพยอม พบว่านักเรียนยังขาดทักษะการเขียนเรื่องจากภาพ เนื้อหาไม่ตรงประเด็นไม่สอดคล้องกับภาพ ใช้ถ้อยคำไม่ถูกต้องไม่เหมาะสมใช้คำซ้ำ ใช้คำเชื่อมไม่เหมาะสม ขาดสุนทรียภาพทางภาษา ใช้ภาษาไม่ถูกต้อง จากความสำคัญและเหตุผลดังกล่าว ผู้สอนจึงเกิดแนวคิดที่ว่า ถ้าครูลองนำภาพที่เกี่ยวกับเรื่องราวที่กำหนดให้นักเรียนเขียน มาเป็นตัวนำให้เกิดความคิดในการเล่าเรื่อง จะช่วยให้การเขียน เล่าเรื่องของนักเรียนมีความลื่นไหลมากขึ้น ภาพอาจจะช่วย สร้างความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนในการเขียนเรื่องได้ทำให้ผู้วิจัยสนใจที่จะศึกษาผลการพัฒนาแบบฝึกทักษะการเขียนเรื่องจากภาพ เพื่อส่งเสริมทักษะการเขียนเรื่องจากภาพของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้ชุดแบบฝึกการเขียนเรื่องจากภาพที่พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนฝึกทักษะการเขียนสรุปความได้ดีขึ้น และนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
จุดประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อพัฒนาแบบฝึกทักษะการเขียนเรื่องจากภาพ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านโคกพยอม ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80
2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก่อน-หลังการเรียนรู้ และร้อยละความก้าวหน้า ของทักษะการเขียนเรื่องจากภาพ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ประชากรที่ใช้ในการศึกษาคือ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 11 คนที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนบ้านโคกพยอม
นวัตกรรม / เครื่องมือ
1. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย
1.1 แผนการสอนวิชาภาษาไทย ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
1.2 แบบฝึกทักษะการเขียนเรื่องจากภาพจำนวน 1 ชุดกิจกรรม
2. เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่
2.1 แบบทดสอบ เรื่อง การเขียนเรื่องจากภาพ เป็นแบบทดสอบอัตนัย เพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ทักษะการเขียนเรื่องจากภาพก่อน หลังการใช้ชุดแบบฝึกทักษะการเขียนเรื่องจากภาพ จำนวน 2 ชุด และได้แยกชุดแบบทดสอบ ดังนี้
แบบทดสอบชุดที่ 1 ทดสอบก่อนเรียน จำนวน 2 ข้อ (ข้อละ 10 คะแนน )
แบบทดสอบชุดที่ 2 ทดสอบหลังเรียน จำนวน 2 ข้อ (ข้อละ 10 คะแนน )
รูบริคส์ประเมินผลแบบทดสอบวัดทักษะการเขียนเรื่องจากภาพ
เกณฑ์การประเมินผล
3 คะแนน การใช้ภาษา โครงสร้างของภาษา การเขียนสะกดคำ
4 คะแนน เนื้อหาตรงประเด็น สร้างสรรค์
2 คะแนน ความสะอาดเรียบร้อย
1 คะแนน เขียนเกณฑ์ที่กำหนด
0 คะแนน ไม่มีประเด็นสำคัญเลย
ขั้นตอนฝึกการเขียนเล่าเรื่องจากภาพ
ครูผู้สอน (ผู้วิจัย) ศึกษาเกณฑ์การตรวจคะแนนการเขียนเรื่องจากภาพ o-net แล้วได้นำเกณฑ์
มาปรับวางรูปแบบแนวเดียวกัน และจุดควรระวังในเรื่องต่างๆ ที่อาจทำให้นักเรียนเสียโอกาสคะแนน
จุดนั้นๆ ได้
ครูผู้สอน (ผู้วิจัย) จึงได้ออกแบบแนวทาง ขั้นตอนการเขียนเรื่องจากภาพ ดังนี้
1. นักเรียนดูภาพอย่างละเอียด แล้วพิจารณา เช่น สถานที่ เวลา บรรยากาศ สีหน้า การกระทำ เป็นต้น
2. นักเรียนเขียนคำจากภาพ หลังจากพิจารณาภาพ ข้อ 1 เช่น เงิน ดีใจ ภูมิใจ ซื้อ ตก/หล่น คืน ซื่อสัตย์กลางวัน ตลาด ห้องนั่งเล่น เพื่อนกัน เป็นต้น
3. นำคำที่ได้จากภาพ มาเรียบเรียงเป็นประโยคให้สอดคล้องในภาพ
- แพนเค้กไปตลาดเพื่อซื้อลูกชิ้นให้น้อง
- ขณะที่แพนเค้กซื้อลูกชิ้น
- แพนเค้กทำเงินหล่นโดยตนเองไม่รู้ตัว
- อาโปเดินหาซื้อผลไม้ในตลาด
- อาโปเห็นเงินของเธอตก และเธอก็ไม่รู้ตัว
- อาโปเก็บเงินให้เธอ
- อาโปเป็นคนซื่อสัตย์
- อาโปภูมิใจที่ได้นำเงินคืนด้วยความซื่อสัตย์
- แพนเค้กขอบคุณ และชื่นชมอาโป
- ทั้งสองก็เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน
4. นำประโยคต่างๆ จากข้อ 3 มาเรียบเรียงเป็นเรื่องราว ครูผู้สอน (ผู้วิจัย) ได้วางแนวทางการเขียนโดยเริ่มต้น เวลา สถานการณ์ และตามด้วยเหตุการณ์
5. นักเรียนนำประโยคต่าง ๆ จากข้อ 3 เรียบเรียนเรื่องราวให้สอดคล้องตามภาพ ครูผู้สอนร่วมกันวางแผนแนวทางการเขียนโดยเรื่องจาก เวลา สถานที่ ตามด้วยเหตุการณ์ อาทิเช่น
6. ครูผู้สอนศึกษาเกณฑ์การตรวจคะแนนการเขียนเรื่องจากภาพ แล้วได้นำเกณฑ์มาปรับวางรูปแบบแนวเดียวกัน และจุดควรระวังในเรื่องต่างๆ ที่อาจทำให้นักเรียนเสียโอกาสคะแนนจุดนั้นๆ ได้เน้นย้ำนักเรียนที่ต้องระวัง ดังนี้
6.1 คำ
- การสะกดคำให้ถูกต้อง หากคำไหนที่ไม่แม่นยำการสะกดให้เลี่ยงคำนั้น
- คำซ้ำ ในเรื่องที่มีความยาว 5-7 บรรทัด ไม่ควรมีคำซ้ำมากกว่า 4 ครั้งต่อคำ หากมีคำซ้ำเปลี่ยนคำเชื่อมหรือสรรพนามอื่นแทน ความหมายคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
- คำไทยมาตรฐานเท่านั้น ไม่ใช้คำทับศัพท์ เช่น แบงค์ คิว เชียร์ ตั๋ว เคาว์เตอร์ เป็นต้น
- ภาษาเขียนเท่านนั้น ไม่ใช่ภาษาพูดหรือภาษาถิ่น
- อักษรย่อ เลี่ยงการใช้อักษรย่อ หรือการใช้เครื่องหมายไม้ยมกให้ถูกต้อง หากไม่แม่นยำให้เลี่ยงใช้เครื่องหมาย
- คำเชื่อม การใช้คำเชื่อมให้ถูกต้องกับความหมายที่ต้องการสื่อสาร ซึ่งคำเชื่อมมีมากมาย นักเรียนมีคลังคำศัพท์ หรือการใช้คำเชื่อมไม่หลากหลาย จะใช้เพียงแค่บางคำ ซึ่งอาจทำให้คำนั้นซ้ำมากเกินกว่า 4 คำต่อเรื่อง
6.2 ประโยค (ประธาน+กริยา+กรรม)
- เมื่อขึ้นประโยคใหม่หลังเว้นวรรค ส่วนประกอบประโยคครบถ้วน โดยเฉพาะประธาน หากไม่มีประธานใช้คำเชื่อมแทน
- การเรียงคำในประโยค
- ใจความแต่ละประโยคไม่วกวน ไม่อธิบายซ้ำประโยคที่ผ่านมา
6.3 การเว้นวรรค
6.4 ปฏิบัติตามคำสั่ง
วิธีดำเนินการ การเก็บรวบรวมข้อมูล
1. ทำการปฐมนิเทศนักเรียน เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ของกิจกรรม ข้อปฏิบัติของสมาชิกในห้องเรียน
2. นำแบบทดสอบเรื่อง การเขียนเรื่องจากภาพ เพื่อวัดทักษะการเขียนเรื่องจากภาพก่อนเรียน (Pre-test) กับประชากรนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และทำการบันทึกคะแนนที่ได้ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล
3. ทดลองใช้ชุดแบบฝึกทักษะการเขียนเรื่องจากภาพ ดำเนินการสอนตามแผนการจัดกิจกรรมที่ผู้ศึกษากำหนดไว้
4. เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมแล้ว นำแบบทดสอบเรื่อง การเขียนเรื่องจากภาพ วัดทักษะการเขียนเรื่องจากภาพ ประเมินความรู้หลังเรียน (Post-test)
การวิเคราะห์ข้อมูล
การวิจัยครั้งนี้ ผู้ศึกษาทำการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาค่าสถิติ คะแนนเฉลี่ย และทำการเปรียบเทียบ ร้อยละความก้าวหน้า ของคะแนนทักษะการเขียนเรื่องจากภาพ ก่อนและหลังเรียน
ผลการวิจัย สรุปผลการศึกษา
จากการศึกษาผลการส่งเสริมทักษะการเขียนเรื่องจากภาพ โดยใช้ชุดแบบฝึกทักษะการเขียนเรื่องจากภาพวิชาภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ผลการศึกษา สรุปได้ดังนี้
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลทักษะการเขียนเรื่องจากภาพของนักเรียน จากการศึกษาพบว่า ผลการใช้ชุดแบบฝึกการเขียนเรื่องจากภาพวิชาภาษาไทย ประกอบกับวิธีสอนแบบอธิบายและแสดงเหตุผล วิธีการสอนโดยใช้แบบฝึกทักษะการเขียนเรื่องจากภาพ ที่พัฒนาขึ้นมาโดยปรับกิจกรรมดังกล่าว
ให้สอดคล้องกับกลุ่มตัวอย่างและสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมทักษะการเขียนเรื่องจากภาพ และใช้แบบทดสอบวัดความสามารถในการเขียนเรื่องจากภาพ เพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้งก่อนและหลังเรียน จากการศึกษาพบว่า
ผลการเปรียบเทียบค่าคะแนนเฉลี่ยของทักษะการเขียนเรื่องจากภาพ โดยใช้ชุดแบบฝึก
การเขียนเรื่องจากภาพวิชาภาษาไทย ประกอบกับวิธีสอนแบบอธิบายและแสดงเหตุผล วิธีการสอนโดยใช้แบบฝึกทักษะการเขียนเรื่องจากภาพ โดยภาพรวมอยู่ในระดับที่สูงกว่าก่อนเรียน กล่าวคือ ก่อนเรียนนักเรียนมีทักษะการเขียนเรื่องจากภาพ เฉลี่ยรวม 6.27 คิดเป็นร้อยละ 62.70 หลังเรียนโดยใช้ ชุดกิจกรรม มีค่าเฉลี่ยของคะแนนทักษะการเขียนเรื่องจากภาพ เฉลี่ยรวม 8.04 คิดเป็นร้อยละ 80.04 ร้อยละความก้าวหน้า 17.34
ผลการศึกษาความพึงพอใจของ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีความพึงพอใจต่อการเรียน โดยใช้ชุดแบบฝึกการเขียนเรื่องจากภาพวิชาภาษาไทย โดยรวมเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด
จากข้อมูลข้างต้นสามารถอธิบายได้ว่า โดยภาพรวมนักเรียนได้รับการส่งเสริมและพัฒนาทักษะการเขียนเรื่องจากภาพ คือ เขียนการเขียนเรื่องจากภาพในระดับความเข้าใจ ตีความ วิเคราะห์ วิจารณ์ และสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่สามารถบ่งบอกได้ว่า นักเรียนส่วนใหญ่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาทักษะการเขียนเรื่องจากภาพเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
อภิปรายผลการศึกษา
จากการศึกษาผลการส่งเสริมทักษะการเขียนเรื่องจากภาพ โดยใช้ชุดแบบฝึกการเขียนเรื่องจากภาพวิชาภาษาไทย ตามแผนการสอนที่พัฒนาขึ้นมาโดยปรับให้สอดคล้องกับกลุ่มตัวอย่างและสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมทักษะการเขียนเรื่องจากภาพ คือ เขียนเรื่องจากภาพในระดับความเข้าใจ ตีความ วิเคราะห์ วิจารณ์ และสร้างสรรค์ ผู้วิจัยได้จัดการเรียนการสอน โดยเน้นวิธีสอนแบบอธิบายและแสดงเหตุผล วิธีการสอนโดยใช้แบบฝึกทักษะการเขียนเรื่องจากภาพ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะการเขียนเรื่องจากภาพ และเน้นการเรียนรู้ตามหลักการของ BBL Model ที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ และจัดประสบการณ์ ให้นักเรียนได้เพิ่มพูนความคิดเห็นที่สอดคล้องกับเนื้อหาที่เรียน ส่งผลให้นักเรียนเกิดความรู้ที่คงทน ตลอดจนสามารถถ่ายทอดความรู้ของตนเองออกมาได้อย่างสร้างสรรค์ ในส่วนของความพึงพอใจต่อการเรียนนั้น เป็นไปตามสมมุติฐาน ซึ่งผู้วิจัยมีความเห็นด้วยอย่างยิ่ง ในการใช้วิธีสอนด้วยนวัตกรรมแบบฝึกทักษะ ดังนั้นแบบฝึกทักษะ จึงเป็นนวัตกรรมที่เป็นสากลสำหรับนักเรียนและครูโดยทั่วไป สอดคล้องกับ สายสุนี สกุลแก้ว (2535: 65) ได้ศึกษาการพัฒนาแบบฝึกทักษะเพื่อจับใจความสำคัญ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ผลการวิจัยพบว่าคะแนนเฉลี่ยจากการทำข้อสอบหลังทำแบบฝึกหัดมากกว่าก่อนทำแบบฝึกหัดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แสดงว่า นักเรียนมีพัฒนาการในการเรียนเรียนสูงขึ้น เช่นเดียวกับงานวิจัยของ มาลี สะอาดเอี่ยม และคณะ (544: บทคัดย่อ) ได้ศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 พบว่า ผลการเปรียบเทียบคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การอ่านคำราชาศัพท์ ของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ระหว่างก่อนการเรียนและหลังการเรียนโดยใช้สถิติ t-test พบว่านักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนการเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
เช่นเดียวกับการศึกษาของ นันฑกาญจน์ คำสุวรรณ์ (ก: บทคัดย่อ) รายงานผลการพัฒนาการใช้ภาพเป็นสื่อในการกระตุ้นให้นักศึกษาเกิดการพัฒนาทักษะในด้านการเขียนเรื่อง กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษา ผลการวิจัยพบว่า ในภาพรวมจากการวิจัยเรื่องการใช้ภาพเป็นสื่อในการเขียนเรื่อง พบว่าผู้เรียนส่วนมากจะเขียนเรื่องตามจินตนาการ จะเขียนได้ดีกว่าการกำหนดภาพให้ แต่การสะกดคำทั้งคิดเอง และกำหนดภาพยังผิดอยู่ บางคนยังเขียนสะกดคำ การเว้นวรรคตอน การใช้คำเชื่อมประโยคไม่ถูกต้อง และ กมลชนก สุขสุวรรณ์ (2559) การพัฒนาแบบฝึกทักษะการเขียนเรื่องจากภาพเพื่อส่งเสริมทักษะการเขียนเรื่องจากภาพของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 6 การวิจัยครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างและพัฒนาแบบฝึกทักษะการเขียนเรื่องจากภาพของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 และเพื่อเปรียบเทียบทักษะการเขียนเรื่องจากภาพของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน ผู้วิจัยดำเนินการสร้างแบบฝึกทักษะการเขียนเรื่องจากภาพ แผนการสอน พร้อมทั้งสร้างแบบวัดทักษะการเขียนเรื่องจากภาพ
เก็บรวบรวมข้อมูลแล้วนำคะแนนที่ได้มาวิเคราะห์โดยใช้ t test แบบ dependent ผลการวิจัยพบว่านักเรียนที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการเขียนเรื่องจากภาพ มีทักษะการเขียนเรื่องจากภาพ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
จากการศึกษาครั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า การใช้ชุดแบบฝึกสรุปความวิชาภาษาไทย เพื่อส่งเสริมทักษะการเขียนเรื่องจากภาพ โดยเน้นวิธีสอนแบบอธิบายและแสดงเหตุผล วิธีการสอนโดยใช้แบบฝึกทักษะการเขียนสรุปความ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะการเขียนสรุปความ ที่กล่าวมาแล้วนั้น ช่วยให้นักเรียนได้รับการส่งเสริมทักษะการเขียนเรื่องจากภาพคือ เขียนการเขียนเรื่องจากภาพในระดับความเข้าใจ ตีความ วิเคราะห์ วิจารณ์และสร้างสรรค์ ต่อยอดทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิตและการเรียนของตน ให้เป็นองค์ความรู้ที่ฝังแน่นซึ่งเป็นความรู้ที่ติดตัวในระยะยาวต่อไป
ข้อเสนอแนะที่ได้จากการศึกษา
1. การใช้ชุดแบบฝึกทักษะการเขียนเรื่องจากภาพวิชาภาษาไทย ช่วยให้นักเรียนมีผลการเรียนรู้สูงขึ้น ทั้งยังก่อให้เกิดความสนุกสนาน และการมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ตลอดจนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน จึงถือว่าเป็นนวัตกรรมที่จะช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนได้อีกทางหนึ่ง
2. การนำแบบฝึกทักษะการเขียนเรื่องจากภาพวิชาภาษาไทย ไปใช้ในการเรียนการสอนให้กับนักเรียนนั้น ครูจะต้องมีการศึกษาและทำความเข้าใจในสิ่งต่อไปนี้ ศึกษาแผนการจัดการเรียนรู้ทุกขั้นตอนให้เข้าใจ ศึกษาแบบฝึกทักษะการเขียนเรื่องจากภาพเกี่ยวกับวิธีการ เนื้อหา จุดประสงค์และรูปแบบการใช้ ตลอดจนแนวทางในการปฏิบัติ และต้องมีการเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียน ดังนี้ ชี้แจงหลักและวิธีการในการใช้แบบฝึกทักษะการเขียนเรื่องจากภาพว่ามีวิธีการอย่างไร ตลอดจนขั้นตอนต่างๆ ในการใช้ รวมถึงข้อตกลงต่างๆ ที่มีความจำเป็นเพื่อให้การเรียนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่ก่อให้เกิดความสับสนและเสียเวลา ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียนเอง
3. ครูต้องตระหนักพร้อมทั้งให้ความสำคัญกับนักเรียนทุกคนในกลุ่ม เนื่องจากแต่ละกลุ่มจะมีนักเรียนเก่ง ปานกลางและอ่อน โดยต้องมีการสลับสับเปลี่ยนกันไปในแต่ละกิจกรรม
ข้อเสนอแนะเพื่อการศึกษาครั้งต่อไป
1. ควรศึกษาเปรียบเทียบผลการเรียนรู้กลุ่มสาระภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะที่ครูจัดทำขึ้น กับการสอนที่ใช้แบบฝึกในหนังสือเรียน
สะท้อนความคิดของผู้วิจัย
ผู้วิจัยได้รับประโยชน์จากการทำวิจัยในชั้นเรียนเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่ผู้วิจัย
ได้สังเกตเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนนั่นก็คือ นักเรียนมีทักษะการเขียนเรื่องจากภาพ คือ เขียนเรื่องจากภาพ ในระดับความเข้าใจ ตีความ วิเคราะห์ วิจารณ์และสร้างสรรค์ ต่อยอดทักษะทางภาษาที่จำเป็นในการดำรงชีวิตและการเรียนของตน ให้เป็นองค์ความรู้ที่ฝังแน่นซึ่งเป็นความรู้ที่ติดตัวต่อไป
บทคัดย่อ การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการพัฒนาแบบฝึกทักษะการเขียนเรื่องจากภาพ เพื่อส่งเสริมทักษะการเขียนเรื่องจากภาพ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ปีการศึกษา 2562 จำนวน 11 คน คัดเลือกจากห้องที่ผู้วิจัยทำการสอน
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบทดสอบ เรื่อง การเขียนเรื่องจากภาพ เป็นแบบทดสอบอัตนัย เพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ทักษะการเขียนเรื่องจากภาพก่อน หลังการใช้ชุดแบบฝึก
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าคะแนน ค่าเฉลี่ย และร้อยละความก้าวหน้า
ผลการวิจัยพบว่า หลังการจัดการเรียนการสอนโดยชุดแบบฝึกทักษะการเขียนเรื่องจากภาพวิชาภาษาไทย นักเรียนมีคะแนนทักษะการเขียนเรื่องจากภาพโดยภาพรวม อยู่ในระดับที่สูงกว่า ก่อนการเรียน กล่าวคือ ก่อนเรียนมีค่าคะแนนทักษะการเขียนเรื่องจากภาพ เฉลี่ยรวม 6.27 คิดเป็นร้อยละ 62.27 หลังการจัดกิจกรรม มีค่าเฉลี่ยของคะแนนทักษะการเขียนสรุปความ เฉลี่ยรวม 8.04 คิดเป็นร้อยละ 80.40 ร้อยละความก้าวหน้า 17.34 และนักเรียนพึงพอใจต่อการจัดการเรียนการสอน ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ว่า นักเรียนจะได้รับการส่งเสริมให้เป็นผู้ที่มีทักษะการเขียนเรื่องจากภาพตลอดจนสามารถพัฒนาการเขียนเรื่องจากภาพให้ได้ผลในระดับความเข้าใจขั้นตีความ ระดับขั้นวิเคราะห์ วิจารณ์ ระดับความเข้าใจขั้นสร้างสรรค์