การจัดกิจกรรมการเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ จะต้องอาศัยเทคนิควิธีการจัดกิจกรรมที่หลากหลายเนื่องจากธรรมชาติของวิชาวิทยาศาสตร์นอกจากความรู้ ความเข้าใจแล้วสิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือทักษะการปฏิบัติที่ต้องทำกิจกรรมแบบกลุ่ม ดังนั้นการจัดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค LT เป็นเทคนิคหนึ่งที่จะสามารถพัฒนานักเรียนที่มีความสามารถต่างกันได้เรียนรู้ร่วมกัน มุ่งหวังให้นักเรียนได้พัฒนาความรู้และผลการเรียนให้สูงขึ้น ดังนั้นการวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) หาประสิทธิภาพของแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค LT ให้เป็นไปตามเกณฑ์ 80/80 2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง ไฟฟ้าน่าสนุก ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค LT 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หลังเรียนจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค LTของนักเรียนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/2 โรงเรียนเทศบาล 5 (พหลโยธินรามินทรภักดี) สังกัดเทศบาลเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 32 คน ซึ่งได้มาโดยการทดสอบความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ยของวิชาวิทยาศาสตร์ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จากนักเรียน
2 ห้องเรียน แล้วทำการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) มีห้องเรียนเป็นหน่วยการสุ่ม จากนั้นกำหนดนักเรียนเข้ากลุ่มแบบคละความสามารถ เก่ง : ปานกลาง : อ่อน โดยในแต่ละกลุ่มย่อยมีจำนวน 5-6 คน คิดเป็นอัตราส่วน 1 : 2 : 1 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค LT จำนวน 5 แผน ทำการสอน 11 ชั่วโมง แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง
ไฟฟ้าน่าสนุก ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 1 ฉบับ 20 ข้อ มีค่าความยากง่าย ตั้งแต่ 0.43 - 0.70 มีค่าอำนาจจำแนกรายข้อ ตั้งแต่ 0.20 0.53 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ 0.719 แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อแผนกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือด้วยเทคนิค LT เป็นแบบมาตราส่วนประเมินค่าของลิเคิร์ท (Likerts Rating Scale) มี 5 ระดับ จำนวน 1 ฉบับ 20 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่น
ทั้งฉบับ เท่ากับ 0.821 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ การทดสอบลำดับที่โดยเครื่องหมายของวิลค็อกซัน( Wilcoxon Signed Ranks Test) ผลการวิจัยปรากฏ ดังนี้
1. ประสิทธิภาพของแผนกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค LT เท่ากับ 82.31/81.72 เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด 80/80
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค LT หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค LT ภาพรวมอยู่ในระดับมาก
โดยสรุป นักเรียนที่เรียนด้วยแผนกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค LT มีผลสัมฤทธิ์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน และความพึงพอใจของนักเรียนอยู่ในระดับมาก ดังนั้นจึงควรสนับสนุนและส่งเสริมให้ครูวิทยาศาสตร์นำกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือนี้ ไปใช้สำหรับจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ต่อไป