dารพัฒนาแผนการสอนของครู
โดย...นางชดช้อย นวลกุล
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยสาร
หัวใจสำคัญของการสอน คือ แผนการสอน หรือ แผนการจัดประสบการณ์ ครูต้องใช้เวลาและความรู้ในการออกแบบการสอนให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยคำนึงถึงความสามารถและความแตกต่างของผู้เรียนเป็นรายบุคคล ฉะนั้น ครูผู้สอนทุกคนจะต้องวิเคราะห์และวางแผนการสอนให้ครอบคลุมและจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียนที่รับผิดชอบสอน ในที่นี้ผู้เขียนจะขอนำเสนอเทคนิคการพัฒนาแผนการสอนของคุณครู ดังนี้
๑. วิเคราะห์ผู้เรียนเป็นรายบุคคล
การวิเคราะห์ผู้เรียนเป็นรายบุคคล จะทำให้ครูผู้สอนสามารถออกแบบการสอนได้สอดคล้องกับเป้าหมายแล้ว ยังสามารถออกแบบการสอนได้สอดคล้องกับทักษะความรู้ความสามารถ และพฤติกรรมพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับนักเรียนในการเรียน
๒. วิเคราะห์หลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่จะออกแบบแผนการสอน เพื่อจะได้ทำให้รู้ธรรมชาติของวิชา และทำให้ทราบว่าสิ่งใดที่นักเรียนควรรู้ สิ่งใดที่นักเรียนรู้แล้ว ทำให้สามารถออกแบบการสอนได้ตรงกับความต้องการหรือเป้าหมายของหลักสูตรว่าต้องการให้นักเรียนทำอะไรได้บ้างภายหลังจากที่นักเรียนได้เรียนรู้ไปแล้ว
๓. ออกแบบการสอน/กำหนดระยะเวลา
การออกแบบการสอน และกำหนดระยะเวลาในการวางแผนการสอนที่แน่นอน จะทำให้ครูมีความมั่นใจสามารถกำหนดสาระสำคัญในการเรียนรู้ได้ตรงประเด็นทำให้ไม่เสียเวลา
๔. จัดทำแผนการสอน/ตรวจสอบแผนการสอน
หลังจากออกแบบการสอน หรือกำหนดระยะเวลาที่ต้องใช้อย่างแน่นอนแล้ว ก็ลงมือจัดทำแผนการสอน และตรวจสอบแผนการสอน โดยการใช้คำถามเพื่อเป็นตัวช่วยในการวางกรอบแนวความคิดในการพัฒนาแผนการสอนโดยคำนึงว่าเด็กจะได้เรียนรู้อะไร โดยคำถามที่จะใช้ทบทวนแผนการสอนว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ ควรใช้ดังนี้
๔.๑ ความรู้และทักษะที่สำคัญที่ต้องการให้นักเรียนได้เรียนรู้ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ด้วยวิธีการใด
๔.๒ จะรู้ได้อย่างไรว่านักเรียนมีพื้นฐานความรู้อะไรบ้าง
๔.๓ คำถามอะไรที่ครูควรใช้กับนักเรียนระหว่างสอนเพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนเข้าใจในสิ่งที่นักเรียนกำลังเรียนรู้อยู่
๔.๔ คำถามอะไรที่ครูควรใช้เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเกิดทักษะการคิดโดยใช้ความรู้พื้นฐานที่สำคัญ
๔.๕ ครูจะใช้วิธีการหรือเทคนิคการสอนใหม่ๆ อย่างไร ช่วงขั้นตอนไหน
๔.๖ ในแผนการสอนได้มีจังหวะ หรือโอกาสให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ โดยนำความรู้ที่เพิ่งได้เรียนรู้ไปใช้หรือไม่
๔.๗ ขั้นสรุปบทเรียน ได้กำหนดให้มีการสอบถามนักเรียนหรือไม่ว่าทักษะ หรือความรู้ใดยากเกินไป มีแหล่งเรียนรู้ให้นักเรียนได้ไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมหรือไม่ หรือครูจะนำกลับมาทบทวนความรู้แก่นักเรียนใหม่
๔.๘ มีการนัดหมายการเรียนครั้งต่อไป หรือมอบหมายงานให้นักเรียนทำนอกเวลาเรียนหรือไม่
โดย...นางชดช้อย นวลกุล
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยสาร
๕. ใช้เทคโนโลยี
ปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมายที่จะเอื้ออำนวยให้ครูนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเป็นสื่อการเรียนสอนที่ส่งผลให้นักเรียนได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น เช่น สื่อ DITV, YouTube เป็นต้น
๖. เตรียมตัวก่อนสอน
การวางแผนการสอน เป็นเหมือนเข็มทิศที่จะช่วยให้ครูเดินไปสู่เป้าหมายได้อย่างสำเร็จ แต่อย่างไรก็ตามแผนการสอนก็จะต้องมีความเหมาะสมและสามารถยืดหยุ่นได้ สามารถแก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงในจุดที่ไม่เหมาะสมได้ ประการสำคัญควรมีการเตรียมตัวล่วงหน้า ทั้งในส่วนที่จะใส่เทคนิคการสอน หรือการตอบคำถามนักเรียนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างเรียน
๗. อย่าใจร้อน
การเรียนการสอนที่ป้อนข้อมูลให้นักเรียนมากจนเกินไป อาจเกินความสามารถของนักเรียนที่จะเรียนรู้ หรือจดจำ แต่ครูควรย้ำเตือนบ่อยๆ เปิดโอกาสให้นักเรียนได้คิด ครูต้องใจเย็นที่จะรอคอยคำตอบจากนักเรียน และเปิดโอกาสได้ทบทวนบ่อยๆ นักเรียนจะได้เกิดการเรียนรู้ โดยเชื่อมโยงไปยังบทเรียนก่อนหน้า
๘. ประเมินแผนการสอน
การประเมินแผนการสอน เพื่อเป็นข้อมูลในการนำมาปรับปรุงแก้ไขให้แผนการสอนมีความสอดคล้องกับหน่วยการเรียนรู้ สอดคล้องกับจุดประสงค์และเนื้อหาสาระยิ่งขึ้น
------------------------------------
สงวนลิขสิทธิ์ โดย ผอ.ชดช้อย นวลกุล จังหวัดกระบี่