บทคัดย่อ
ชื่องานวิจัย การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1
ชื่อผู้วิจัย เรณุภา วาทีรักษ์
สังกัด ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเทพกระษัตรี
เทศบาลตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
ปีที่วิจัย 2561
การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 มีจุดประสงค์ในการวิจัย ดังนี้ 1) การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เปรียบเทียบทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยก่อนและหลังได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นเด็กปฐมวัย ชายหญิง อายุ 3-4 ปีที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นปฐมวัยปีที่ 1 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเทพกระษัตรี สังกัดกองการศึกษา เทศบาลตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 20 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบกลุ่ม(Cluster Random Sampling) โดยสุ่มมา 1 ห้องเรียน ระยะเวลาในการทดลองครั้งนี้ทำการทดลองเป็นเวลา 8 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที รวม 24 ครั้ง และศึกษาในแหล่งเรียนรู้ จำนวน 1 ครั้ง จำนวน 4 ชั่วโมง
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ คือ 1) แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นการพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย จำนวน 4 หน่วยการเรียน ได้แก่ หน่วยที่ 1 ดิน หน่วยที่ 2 หิน หน่วยที่ 3 น้ำ หน่วยที่ 4 พืช และ 2) แบบทดสอบทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยของเด็กปฐมวัยปีที่ 1 จำนวน 4 ชุด ชุดละ 5 ข้อ รวม 20 ข้อ ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบเท่ากับ 0.61 การวิจัยครั้งนี้ใช้แบบแผนการวิจัยแบบ One Group Pretest-Posttest Design สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลคือ หาค่าสถิติพื้นฐานในการวิเคราะห์ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่า z ( The Wilcoxon Signed Rank Test)
ผลการวิจัยพบว่า1) การจัดประสบการณ์การตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 มีประสิทธิภาพ 85.13/84.50 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 2) ทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีโดยรวมอยู่ในระดับดีมาก และจำแนกรายทักษะมีค่าเฉลี่ยคะแนนสูงขึ้นทุกทักษะ อยู่ในระดับดีมากทั้ง 4 ทักษะ คือ ทักษะการสังเกต ทักษะการจำแนกประเภท ทักษะการสื่อสาร และ ทักษะการลงความเห็น เมื่อเปรียบเทียบระหว่างก่อนและหลังการทดลอง พบว่า แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01