ชื่องานวิจัย การพัฒนากลยุทธ์การประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาแบบมีส่วนร่วม
โรงเรียนมัธยมดงยาง จังหวัดมหาสารคาม
ผู้วิจัย นายภักดี นามวิจิตร
ปีที่พิมพ์ 2562
บทคัดย่อ
การพัฒนากลยุทธ์การประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาแบบมีส่วนร่วม โรงเรียนมัธยมดงยาง จังหวัดมหาสารคาม ผู้วิจัยได้ดำเนินการตามกระบวนการของการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีวัตถุประสงค์ คือ (1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานและกำหนดกรอบกิจกรรมการดำเนินงานประกันคุณภาพภายใน ของโรงเรียนมัธยมดงยาง จังหวัดมหาสารคาม (2) เพื่อศึกษาผลการใช้กิจกรรมการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในของโรงเรียนมัธยมดงยาง จังหวัดมหาสารคาม ด้านการวางแผนด้านการดำเนินงาน ด้านการตรวจสอบ ผลการดำเนินงาน ด้านการปรับปรุง (3) เพื่อประเมินความพึงพอใจของครูและบุคลากรทางการศึกษาต่อผลการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในของโรงเรียนมัธยมดงยาง จังหวัดมหาสารคาม การดำเนินงานกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ แบ่งเป็น 1) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาข้อมูลพื้นฐานโดยการสัมภาษณ์ เป็นประธานกรรมการสถานศึกษา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และครู จำนวน 7 คน ใช้การสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple random sampling) 2) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการกำหนดกรอบกิจกรรมการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาโรงเรียนมัธยมดงยาง จังหวัดมหาสารคาม เป็น ครู และบุคลากรทางการศึกษา โรงเรียนมัธยมดงยาง จังหวัดมหาสารคามจำนวน 15 คนใช้การสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple random sampling) 3) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาผลการใช้กิจกรรมการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในของโรงเรียนมัธยมดงยาง จังหวัดมหาสารคาม เป็นครูและบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนมัธยมดงยาง จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 15 คน ใช้การสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple random sampling) และ 4) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินความพึงพอใจของครูและบุคลากรต่อผลการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในของโรงเรียนมัธยมดงยาง จังหวัดมหาสารคาม เป็นครูและบุคลากรทางการศึกษา โรงเรียนมัธยมดงยาง จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 15 คน ใช้การสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple random sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง แบบสังเกตการณ์ แบบบันทึก แบบทดสอบและแบบประเมินความพึงพอใจสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานค่าและการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
สรุปผลการวิจัย
การพัฒนากลยุทธ์การประกันคุณภาพภายในของโรงเรียนมัธยมดงยาง จังหวัดมหาสารคาม สรุปผลได้ดังนี้
1. ผลการวิจัยข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสภาพปัจจุบันการดำเนินการ โรงเรียนมัธยมดงยาง จังหวัดมหาสารคาม จากการสัมภาษณ์ และการสังเคราะห์ข้อมูล พบว่า
1.1 ไม่มีผลการประเมินความสำเร็จตามเป้าหมายของการดำเนินงาน
1.2 ไม่มีการจัดทำฐานข้อมูล เครื่องมือสำหรับการประเมินความสำเร็จ ทั้งด้านผู้เรียน ด้านครู และด้านผู้บริหาร
1.3 ไม่แสดงถึงการนำผลการประเมินมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพของงาน
1.4 ไม่มีผลสรุปความสำเร็จตามเป้าหมายทั้งในระดับโครงการ และระดับแผนพัฒนาสอดคล้องกับผลสรุปการประเมิน ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (2558 : 22) พบว่า โรงเรียนพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายใน มีผลการประเมินอิงเกณฑ์ระดับคุณภาพดีแต่การพัฒนาตามข้อเสนอแนะไม่เป็นระบบและกรอบในการดำเนินการไม่ชัดเจน จึงไม่มีผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โรงเรียนมีความตระหนัก จัดลำดับความสำคัญขิงภารกิจตามนโยบายและภารกิจหลักชัดเจน แต่ในการปฏิบัติไม่เป็นตามเกณฑ์ และไม่บรรลุมาตรฐาน เป้าหมายตามแผน ส่งผลให้ผลการประเมินอิงสถานศึกษา มีระดับคุณภาพ ปรับปรุง
2. ผลการใช้กิจกรรมการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในของโรงเรียนมัธยมดงยาง จังหวัดมหาสารคาม
2.1 ด้านการใช้กิจกรรมการดำเนินงาน การทำกิจกรรม การประชุม สัมมนา การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การศึกษาดูงาน จากสถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และต่างสังกัดที่จัดการศึกษา การเตรียมการบรรลุตามเป้าหมาย ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนให้มีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการประกันคุณภาพการศึกษา ได้ข้อมูลในการดำเนินการพัฒนาคุณภาพต่อไป เช่น การพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ การวางแผนในการจัดการเรียนรู้ การเตรียมความพร้อมเพื่อการพัฒนาผลงานเข้าสู่การเลื่อนตำแหน่ง หรือเลื่อนให้ได้รับวิทยฐานะต่าง ๆ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการทำงาน ซึ่งทุกคนตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของการประกันคุณภาพการศึกษามากขึ้น คณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งปฏิบัติหน้าที่ของตนเองด้วยความมั่นใจมากขึ้น มีการกำหนดระบบการประกันคุณภาพการศึกษา ตลอดทั้งสร้างสื่อ ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการดำเนินการ คู่มือการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา
2.2 ด้านการวางแผนการประกันคุณภาพการศึกษา การประชุมอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การศึกษาดูงาน การวางแผนการประกันคุณภาพการศึกษา บรรลุเป้าหมาย คือ ครูและบุคลากรทางการศึกษา หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระฯ หัวหน้าฝ่าย คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกันวางแผนการพัฒนางานประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน มีการจัดทำข้อมูลพื้นฐานและสารสนเทศให้ครบทุกด้านและเป็นปัจจุบันได้เอกสารมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียน ธรรมนูญโรงเรียน แผนพัฒนาการศึกษา 4 ปี แผนปฏิบัติการประจำปีการศึกษา แผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ ของโรงเรียน มาตรฐานการปฏิบัติงานของแต่ละหมวด แต่ละฝ่ายที่ปรับปรุงจากฉบับเดิม ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับการดำเนินโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียนในสภาพปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือ แนวทางพัฒนา ในการดำเนินงานประกันคุณภาพและการรายงานผลต่อสาธารณชนและต้นสังกัดต่อไป
2.3 ด้านการนำแผนการประกันคุณภาพการศึกษาไปใช้
2.3.1 ผลการดำเนินการประชุม ผู้เข้าร่วมประชุม มีความรู้ ความเข้าใจ บทบาทหน้าที่ของตนเองดี การมีส่วนร่วมจะช่วยให้พัฒนาโรงเรียนได้ดีขึ้น ในครั้งต่อไปโรงเรียนควรประชาสัมพันธ์กับสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่บ้านขอความร่วมมือประกาศ กระจ่ายข่าว ประชาสัมพันธ์แจ้งว่ามีการเปิดรับบริจาคเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดี ประพฤติดี เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการศึกษา และควรจัดประชุมไม่ให้ตรงกับวันหยุด ช่วงฤดูกาลเพาะปลูก หรือช่วงที่เก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร คณะกรรมการสถานศึกษามีความพึงพอใจที่โรงเรียนได้ตั้ง หรือกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียน อย่างน้อยทุกคนได้รู้และเข้าใจว่านักเรียนเมื่อมาเรียนหนังสือแล้วได้อะไรบ้าง และเสนอแนะว่าต้องการให้โรงเรียนได้จัดทำอะไรบ้าง เช่น โครงการห้องศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พระราชา โครงการห้องศูนย์การเรียนรู้ท่องเที่ยว การส่งเสริมโครงการศึกษาดูงาน การส่งเสริมการบริหารจัดการศึกษาของโรงเรียนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ไทยแลนด์ 4.0 การส่งเสริมใช้แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชน การสอนภาษาต่างประเทศโดยครูเจ้าของภาษา
2.3.2 การมอบหมายงาน มีการประชุมมอบหมายงาน โดยมีเป้าหมาย เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนรับผิดชอบภาระงานตามความรู้ ความสามารถ ความสนใจและความถนัด เมื่อบุคลากรทุกคนได้เข้าใจในภาระงาน บทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ ขอบเขตงานและขั้นตอนการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษา และกำหนดในแผนปฏิบัติการประจำปีการศึกษาของโรงเรียนจากการมีส่วนร่วมคิดร่วมทำทุกคนทำให้งานประกันคุณภาพการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารและการจัดการศึกษาของโรงเรียน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่ได้กำหนดไว้ต้องมีการกำหนดตัวผู้ปฏิบัติงาน โดยผู้ศึกษาและผู้ร่วมศึกษาได้เปิดโอกาสให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้เลือกรับผิดชอบและปฏิบัติงานตามความสนใจ ความรู้ความสามารถ และรวมกลุ่มงานที่จะมาร่วมกันทำงานเป็นทีมพัฒนางาน
2.4 การตรวจสอบและทบทวนคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา
ผลการดำเนินกิจกรรม จากการทบทวนตรวจสอบคุณภาพการศึกษา พบว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ทราบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา และได้ให้ข้อตกลงพร้อมกันในการดำเนินงานแก้ปัญหา จะไม่หยุดชะงัก เพราะจะทำให้เกิดผลไม่ดีกับนักเรียน โรงเรียน ผู้อำนวยการสถานศึกษาให้ขวัญและกำลังใจในการทำงานแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาและเชื่อมั่นว่า ทุกปัญหาจะต้องได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นได้ ด้วยความร่วมมือของครูและบุคลากรทุกคน มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนิเทศ กำกับติดตาม มีการกำหนดแนวทางการปฏิบัติ แนวทางการตรวจสอบและทบทวนคุณภาพการศึกษา มีการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจให้คณะกรรมการสามารถดำเนินการตรวจสอบทบทวนคุณภาพการศึกษาตามกำหนดเวลา สามารถดำเนินการเก็บข้อมูลได้ทุกมาตรฐาน สรุปผลการดำเนินงาน รายงานผลการตรวจสอบได้ตามกำหนดเวลา
2.5 การพัฒนาและปรับปรุง มาตรฐานการศึกษา
มาตรฐานด้านกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การวิจัยและนวัตกรรมของครูและนักเรียนที่ประชุมตกลงกันว่า ในสภาพของการเปลี่ยนแปลงสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและวิทยาการด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ครูควรปรับเปลี่ยนวิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้ ครูต้องเปลี่ยนแปลงตนเองในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการจัดการเรียนรู้ และแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ครูทุกคนควรเข้าร่วมกิจกรรมการประชุมอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ในกลุ่มเครือข่ายทางวิชาการ ในเรื่องการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การทำวิจัยในชั้นเรียน การสร้างสื่อและนวัตกรรมที่สอดรับกับหน่วยการเรียนรู้
2.6 การเตรียมรับการประเมินจากองค์กรภายนอก
ผลการนิเทศการเตรียมรับการประเมินจากองค์กรภายนอก มีข้อค้นพบ คือ
2.6.1 จากที่ครูได้รับการนิเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้ครูให้ความร่วมมือในการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษามากขึ้น มีความชัดเจนมากขึ้นในการจัดเตรียมเอกสาร ข้อมูลสารสนเทศ และร่องรอยการปฏิบัติงาน ครูมีผลงานที่สะท้อนผลการนิเทศได้ในระดับดี
2.6.2 จากการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้มีความมั่นใจมีความพร้อมให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา เข้าประเมินคุณภาพภายนอก
3. ผลการประเมินความพึงพอใจของครูและบุคลากรทางการศึกษาต่อผลการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาโรงเรียนมัธยมดงยาง จังหวัดมหาสารคาม พบว่า มีความพึงพอใจต่อการมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพภายในของโรงเรียนมัธยมดงยาง จังหวัดมหาสารคาม อยู่ในระดับมาก การพัฒนากลยุทธ์การประกันคุณภาพการศึกษาแบบมีส่วนร่วม โรงเรียนมัธยมดงยาง จังหวัดมหาสารคาม เปรียบเทียบก่อนและหลังการพัฒนา โดยใช้ขั้นตอนระบบการประกันคุณภาพภายในทั้ง 5 ขั้นตอน 5 กลยุทธ์ ตามที่กล่าวมาข้างต้น ระดับความคิดเห็นของบุคลากรจากการตอบแบบสอบถามการมีส่วนร่วมของบุคลากรในการประกันคุณภาพการศึกษาแบบมีส่วนร่วม โรงเรียนมัธยมดงยาง จังหวัดมหาสารคามก่อนการพัฒนา เฉลี่ย 3.23 อยู่ในระดับปานกลาง หลังจากได้พัฒนาตามขั้นตอนและกลยุทธ์ดังกล่าว ระดับความคิดเห็นหลังการพัฒนา เฉลี่ย 3.92 อยู่ในระดับมาก แสดงให้เห็นว่า การพัฒนาประสิทธิภาพการประกันคุณภาพการศึกษาแบบมีส่วนร่วมโรงเรียนมัธยมดงยางจังหวัดมหาสารคามมีค่าเพิ่มมากขึ้น