ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาตามแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนเทศบาล ๓ (บ้านหัวทาง) สังกัดเทศบาลเมืองสตูล จังหวัดสตูล ปีการศึกษา2560-2561
ผู้รายงาน นางโสภาวรรณ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนเทศบาล ๓ (บ้านหัวทาง)
ปีที่รายงาน ปีการศึกษา2560-2561
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
รายงานการประเมินโครงการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาตามแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนเทศบาล ๓ (บ้านหัวทาง) ปีการศึกษา2560 – 2561 มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินด้านสภาพแวดล้อม ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิตของโครงการ ประกอบด้วย1) คุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษาตามแนวคิดของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงครอบคลุม 5 ด้าน2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำแนกเป็นระดับสถานศึกษาและผลการประเมินสมรรถนะสำคัญของนักเรียนโดยหน่วยงานต้นสังกัด3) ความสามารถของนักเรียนในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเผยแพร่สู่ครอบครัว และชุมชน4) ความพึงพอใจของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มีต่อการดำเนินโครงการ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ประชากรและกลุ่มตัวอย่างดังนี้ ประชากรครู ปีการศึกษา 2560–2561จำนวน 12 คน กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 – 6 ปีการศึกษา2560 จำนวน 192 คน ปีการศึกษา 2561 จำนวน 172 คน ผู้ปกครอง ปีการศึกษา 2560 จำนวน 192 คน ปีการศึกษา 2561 จำนวน 167 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีการศึกษา 2560 – 2561 จำนวน 13 คน เครื่องมือที่ใช้รวมทั้งสิ้น 8 ฉบับ มี 3 ลักษณะ ได้แก่ แบบสอบถาม แบบบันทึกผลตามสภาพจริงและ แบบบันทึกสังเกตความสามารถของนักเรียนไปประยุกต์ใช้ เผยแพร่สู่ครอบครัว แบบบันทึกผลสัมฤทธิ์ระดับสถานศึกษาตามสภาพจริง แบบบันทึกผลการประเมินสมรรถนะสำคัญของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3และ6 โดยหน่วยงานต้นสังกัด วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรม SPSS Version 23 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการประเมินสรุปได้ดังนี้
1. ผลการประเมินสภาพแวดล้อม ตามความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษา และครูโดยภาพรวมทั้ง 2 กลุ่ม ที่ประเมิน พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากและมากที่สุด ผ่านเกณฑ์การประเมิน
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า ตามความคิดเห็นของครูโดยภาพรวมพบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากผ่านเกณฑ์การประเมิน
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ ตามความคิดเห็นของนักเรียน ครู และผู้ปกครองโดยภาพรวมทั้ง 3 กลุ่ม ที่ประเมิน พบว่า มีคุณภาพอยู่ในระดับมากผ่านเกณฑ์การประเมิน
4. ผลการประเมินด้านผลผลิตการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา ประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ คุณภาพการจัดการของสถานศึกษา พบว่า 4.1) คุณภาพการจัดการศึกษาตามแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในระดับมากและมากที่สุด ผ่านเกณฑ์การประเมิน 4.2) คุณภาพของนักเรียนได้แก่ 4.2.1) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับสถานศึกษา ปีการศึกษา 2561 สูงกว่าปีการศึกษา 2560 ผ่านเกณฑ์การประเมิน 4.2.2) ผลการประเมินสมรรถนะสำคัญของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และ 6 อยู่ในระดับดีขึ้นไปสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ผ่านเกณฑ์การประเมิน 4.3) ผลการสังเกตพฤติกรรมที่สะท้อนถึงความสามารถของนักเรียน โดยภาพรวมทั้งครูและผู้ปกครองมีคุณภาพอยู่ในระดับดี สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ผ่านเกณฑ์การประเมิน 4.4) ผลการประเมินความพึงพอใจของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีต่อการดำเนินโครงการโดยภาพรวม พบว่า ทุกกลุ่มที่ประเมิน มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากและมากที่สุด ผ่านเกณฑ์การประเมิน