บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ (1) เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้แบบฝึกทักษะเรื่อง อักษรประสม ร่วมกับการเรียนรู้แบบกลุ่ม NHT สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยา โดยกำหนดเกณฑ์ประสิทธิภาพ E1/E2 ที่ 80/80 และมีค่าดัชนีประสิทธิผล ตั้งแต่ 0.5 ขึ้นไป (2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะเรื่อง อักษรประสม ร่วมกับการเรียนรู้แบบกลุ่ม NHT สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยา ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน และ (3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยา ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ โดยใช้แบบฝึกทักษะเรื่อง อักษรประสม ร่วมกับการเรียนรู้แบบกลุ่ม NHT กลุ่มตัวอย่างของการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/3 โรงเรียนเทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยา สังกัดเทศบาลนครอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 32 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) ใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยการสุ่ม เพื่อใช้เป็นกลุ่มทดลอง ที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะเรื่องอักษรประสม ร่วมกับการเรียนรู้แบบกลุ่ม NHT เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย (1) แบบฝึกทักษะเรื่องอักษรประสม จำนวน 9 เล่ม และแผนการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยการใช้แบบฝึกทักษะเรื่อง อักษรประสม ร่วมกับการเรียนรู้แบบกลุ่ม NHT จำนวน 9 แผนการจัดการเรียนรู้ (2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบปรนัยเลือกตอบ ชนิด 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ และ (3) แบบสอบถามความพึงพอใจที่มีต่อการเรียนรู้ โดยเป็นแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) กำหนดค่าคะแนนเป็น 5 ระดับ จำนวน 10 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิจัย คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบสมมติฐานใช้ t-test (pair)
ผลการวิจัยพบว่า
1. การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้แบบฝึกทักษะเรื่อง อักษรประสม ร่วมกับการเรียนรู้แบบกลุ่ม NHT สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยา มีประสิทธิภาพ 85.59/86.98 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด และมีค่าดัชนีประสิทธิผล (The Effectiveness Index : E.I.) เท่ากับ 0.74
2. กลุ่มตัวอย่างที่เรียนรู้ โดยการใช้แบบฝึกทักษะเรื่อง อักษรประสม ร่วมกับการเรียนรู้แบบกลุ่ม NHT สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยา มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. กลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจต่อการเรียนรู้ โดยการใช้แบบฝึกทักษะเรื่อง อักษรประสมร่วมกับการเรียนรู้แบบกลุ่ม NHT สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยา โดยรวมอยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ย 4.28
คำสำคัญ: เทคนิคการเรียนรู้แบบ NHT, อักษรประสม
ABSTRACT
The purposes of this research were (1) to develop of learning activities using the practice subject The Combination of Thai Alphabet in conjunction with cooperative leaning model NHT for Sriharak Wittaya Municipal 5 School s Primary 3 Students to have a required efficiency of 80/80 and effectiveness Index : E.I of 0.5, (2) to compare the learning achievement between before and after learning activities using the practice subject The Combination of Thai Alphabet in conjunction with cooperative leaning model NHT for Sriharak Wittaya Municipal 5 School s Primary 3 Students, and (3) to examine Primary 3 students satisfaction with organization of learning activities using the practice subject The Combination of Thai Alphabet in conjunction with cooperative leaning model NHT. The cluster random sampling was applied for 32 Primary 3 students attending Sriharak Wittaya Municipal 5 School in the second semester of the academic year 2018. The instruments used in this study were : (1) 9 the practice subject The Combination of Thai Alphabet and 9 plans with cooperative leaning model NHT, (2) 30 items with 4 multiple choices of the achievement test which its difficulty index is from 0.20-0.80, the discrimination is over 0.20 and the reliability is 0.760, and (3) 10 items of 5-point rating scale questionnaire used for students satisfaction towards the learning. The data were subsequently analyzed by percentage, mean, standard deviation and t-test (pair)
The results of the research revealed that :
1. to develop of learning activities using the practice subject The Combination of Thai Alphabet in conjunction with cooperative leaning model NHT for Sriharak Wittaya Municipal 5 School s Primary 3 Students was found to be 85.59/86.98 which was higher than the established requirement of standard criterion, and effectiveness Index : E.I of 0.74
2. The learning achievement between before and after learning activities using the practice subject The Combination of Thai Alphabet in conjunction with cooperative leaning model NHT for Sriharak Wittaya Municipal 5 School s Primary 3 Students was higher than before the organization of 4 MAT learning activities at the significant level of .05.
3. The participants were satisfied with with organization of learning activities using the practice subject The Combination of Thai Alphabet in conjunction with cooperative leaning model NHT was evidently found at a high level. The mean was 4.28.
KEYWORDS: cooperative leaning model NHT, The Combination of Thai Alphabet
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
ภาษาไทยถือเป็นเอกลักษณ์และเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่ก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพของคนในชาติให้มีความเป็นไทย รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสาร เพื่อสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทำให้ชาวไทยสามารถดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมประชาธิปไตยได้อย่างสันติสุข ดังพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่ได้พระราชทานแก่ผู้เข้าประชุมทางวิชาการชุมนุมภาษาไทยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 เรื่องความสำคัญของภาษาไทย พระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า ภาษาไทยเป็นเครื่องมือที่สำคัญซึ่งคนไทยใช้ในการสื่อสาร ดังนั้นคนไทยจึงควรภาคภูมิใจที่มีภาษาไทยเป็นของตนเองมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งคนเราทุกคนควรจะรักษาไว้ (กรมวิชาการ, 2545)
ในการจัดการเรียนการสอนที่จะทำให้ผู้เรียนสามารถบรรลุถึงวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ครูผู้สอนจะต้องเสริมสร้างคุณลักษณะที่สำคัญให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน นั่นคือ การทำให้ผู้เรียนทุกคนตระหนักในบทบาทหน้าที่ของตนเองในการเรียนรู้เชิงการคิดวิเคราะห์และยึดตัวผู้เรียนเองเป็นสำคัญ โดยผู้เรียนจะมีบทบาทหน้าที่ในการเรียนการสอนเพิ่มมากขึ้นจากที่แล้วมาที่เคยยึดครูเป็นสำคัญ และผูกขาดการดำเนินกิจกรรมการสอนแต่เพียงผู้เดียว กล่าวคือ ผู้เรียนจะต้องเป็นผู้เรียนรู้ด้วยตนเองในลักษณะของการปฏิบัติจริงเพื่อให้เกิดการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ เพราะจะทำให้เกิดความแม่นยำและเกิดประโยชน์ต่อตนเองสูงสุด (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2543) ซึ่งแนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาเยาวชนของชาติเข้าสู่โลกยุคศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งส่งเสริมผู้เรียนมีคุณธรรม รักความเป็นไทย ให้มีทักษะการคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ มีทักษะด้านเทคโนโลยี สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมโลกได้อย่างสันติ (กระทรวงศึกษาธิการ, 2551)
บริบทของการจัดการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ซึ่งถือว่าเป็นระดับชั้นที่สำคัญ เพราะเปรียบเสมือนการวางรากฐานของการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นต่อไป จากการจัดการศึกษาของโรงเรียนเทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยา ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา (ปีการศึกษา 2551-2561) พบว่า ผลการจัดการเรียนการสอน โดยใช้หนังสือเรียนตามหลักสูตรแต่เพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถพัฒนาการเล่าเรียนของนักเรียนได้อย่างเต็มที่ สะท้อนจากผลการเรียน และคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ปีการศึกษา 2560 ร้อยละเฉลี่ยของกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย คือ 65.34 ไม่เป็นที่น่าพอใจนัก (รายงานสรุปผลการจัดการศึกษา โรงเรียนเทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยา, 2560) เมื่อพิจารณาคะแนนเป็นรายทักษะ พบว่า ทักษะการอ่าน การเขียน โดยเฉพาะชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 เรื่อง การแจกลูกและการประสมคำ นักเรียนส่วนมากไม่สามารถทำได้ เพราะมีช่วงหนึ่งที่กำหนดให้ครูสอนภาษาไทยสอนอ่านออกเสียงเป็นคำ ๆ โดยไม่บอกที่มาของการอ่านออกเสียงคำหรือประโยคนั้น ๆ นักเรียนใช้วิธีการจดจำอย่างเดียวว่า คำหรือประโยคเหล่านั้นอ่านออกเสียงแบบใด ซึ่งนักเรียนส่วนมากจดจำได้ไม่นาน ทำให้เด็กนักเรียนอ่านหนังสือได้ไม่คล่องและเขียนคำไม่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อตัวนักเรียนเอง เมื่อศึกษาในระดับสูงต่อไป ซึ่งทุกโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ได้พบกับปัญหาเหล่านี้เช่นเดียวกัน สำนักการศึกษาจึงกำหนดให้ทุกโรงเรียนในสังกัด ดำเนินงานตามโครงการอ่านออกเขียนได้ โดยครูผู้สอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ร่วมกันรับผิดชอบ ดำเนินการสอบตามโครงการในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 และร่วมกันแสวงหาแนวทางในการพัฒนานักเรียนให้อ่านออกเขียนได้ตามเกณฑ์ในแต่ละระดับชั้น โรงเรียนเทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยา จึงร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนา และกำหนดเกณฑ์คะแนนเฉลี่ยของนักเรียนไว้ที่ร้อยละ 80 และต้องพัฒนานักเรียนให้บรรลุเป้าประสงค์นั้นในทุกระดับชั้น
จากเหตุผลดังกล่าวมาแล้วในข้างต้น ผู้วิจัยในฐานะครูผู้สอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จึงมีความคิดว่าหากมีการนำสื่อการสอนที่เป็นแบบฝึกหรือชุดฝึก ซึ่งแตกต่างจากการเรียนโดยใช้ตำราเรียนแต่เพียงอย่างเดียว มาใช้จัดการเรียนรู้โดยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แบบร่วมกันคิด (Numbered Heads Together : NHT) คงจะเกิดประโยชน์และสามารถช่วยใน การพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอน ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการแจกลูกและประสมคำ ส่งเสริมให้นักเรียนอ่าน เขียน และใช้ภาษาไทยใน การสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นผู้วิจัยจึงได้จัดทำแบบฝึกทักษะและแผนการจัดการเรียนรู้ และดำเนินการวิจัย เรื่อง การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้แบบฝึกทักษะเรื่อง อักษรประสม ร่วมกับการเรียนรู้แบบกลุ่ม NHT สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยา ทั้งเพื่อนำผลการวิจัยไปพัฒนาการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยให้ก้าวหน้าต่อไป
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้แบบฝึกทักษะเรื่อง อักษรประสม ร่วมกับการเรียนรู้แบบกลุ่ม NHT สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยา โดยกำหนดเกณฑ์ประสิทธิภาพ E1/E2 ที่ 80/80 และมีค่าดัชนีประสิทธิผล ตั้งแต่ 0.5 ขึ้นไป
2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะเรื่อง อักษรประสม ร่วมกับการเรียนรู้แบบกลุ่ม NHT สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยา ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน
3. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยา ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะเรื่อง อักษรประสม ร่วมกับการเรียนรู้แบบกลุ่ม NHT