บทคัดย่อ
ชื่องานวิจัย การพัฒนาวิธีสอนแบบ SQ4R ร่วมกับการใช้ผังกราฟิก เพื่อส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
ชื่อผู้วิจัย นางนุชจรี หาบหา
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
หน่วยงาน โรงเรียนเทศบาลบ้านสามกอง(ขุนวิเศษนุกูลกิจอุทิศ)
ปีที่วิจัย ปีการศึกษา 2560
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและแนวทางการพัฒนาวิธีสอนแบบ SQ4R ร่วมกับการใช้ผังกราฟิก เพื่อส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 2) เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพของแผนการจัด การเรียนรู้โดยใช้วิธีสอนแบบ SQ4R ร่วมกับการใช้ผังกราฟิก เพื่อส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ ตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 3) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านจับใจความของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้วิธีสอนแบบ SQ4R ร่วมกับการใช้ผังกราฟิก ก่อนเรียนและหลังเรียน 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่มีต่อ การจัดการเรียนรู้โดยใช้วิธีสอนแบบ SQ4R ร่วมกับการใช้ผังกราฟิก กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1/2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนเทศบาลบ้านสามกอง (ขุนวิเศษนุกูลกิจอุทิศ) สังกัดเทศบาลนครภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต จำนวน 33 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มห้องเรียน ด้วยวิธีสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) โดยการจับฉลาก ห้องเรียนเป็นหน่วยในการสุ่ม เนื่องจากนักเรียนทุกห้องเรียนมีความสามารถคล้ายคลึงกัน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้วิธีสอนแบบ SQ4R ร่วมกับการใช้ผังกราฟิก เพื่อส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 12 แผน 2) แบบทดสอบวัดความสามารถในการอ่านจับใจความ ลักษณะอบบทอดสอบแบบปรนัย ชนิดเลือกตอบ 3 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่น .83 และ 3) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้วิธีสอนแบบ SQ4R ร่วมกับการใช้ผังกราฟิก ประกอบด้วยข้อคำถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) จำนวน 12 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่น .84 ผู้วิจัยได้ดำเนินการทดลองเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบแผน One Group Pretest Posttest Design สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การหาประสิทธิภาพ (E1/E2) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (X- : Arithmetic Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D. : Standard Deviation) และการทดสอบสมมติฐานด้วยสถิติที (t-test Dependent Samples)
ผลการวิจัยครั้งนี้พบว่า
1. สภาพปัญหาและแนวทางการพัฒนาวิธีสอนในการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ คือ คือ 1) ปัญหาจากการจัดการเรียนการสอนของครู 2) ปัญหาที่เกิดจากนักเรียน 3) ปัญหาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ กิจกรรมการเรียนการสอนอ่านจับใจความเน้นการบรรยาย เนื้อหาไม่เหมาะสมกับวัยของนักเรียน เรียน 4) ปัญหาจากการใช้เครื่องมือในการวัดผลประเมินผล และ 5) ปัญหาในการใช้เกณฑ์การวัดผลประเมินผลอ่านจับใจความ
2. ผลการพัฒนาวิธีสอนแบบ SQ4R ร่วมกับการใช้ผังกราฟิก เพื่อส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด และแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้วิธีการสอนแบบ SQ4R ร่วมกับการใช้ผังกราฟิก เพื่อส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความ มีประสิทธิภาพเท่ากับ 84.14/84.23
3. ความสามารถในการอ่านจับใจความของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้วิธีสอนแบบ SQ4R ร่วมกับการใช้ผังกราฟิก หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้วิธีสอนแบบ SQ4R ร่วมกับการใช้ผังกราฟิก อยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 2.67 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.14