ชื่อเรื่อง การพัฒนาชุดฝึกอบรม IQA เพื่อพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 2
ผู้วิจัย นางอรอนงค์ พรหมวิหาร
ปีที่วิจัย 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อสร้างและหาความเหมาะสมและความสอดคล้อง ของชุดฝึกอบรม IQA เพื่อพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา 2) เพื่อเปรียบเทียบความรู้การพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาระหว่างก่อนกับหลังการใช้ชุดฝึกอบรม IQA เพื่อพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของบุคลากรต่อชุดฝึกอบรม IQA เพื่อพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา และ 4) เพื่อศึกษาผลการประเมินระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 2 ก่อนและหลังการพัฒนาโดยใช้ชุดฝึกอบรม IQA เพื่อพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา
กลุ่มเป้าหมายในการใช้ชุดฝึกอบรม IQA เพื่อพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 2 ปีการศึกษา 2561 ได้แก่ สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 2 ที่จะเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอก รอบสี่ (รุ่นที่ 1) ปีการศึกษา 2561 จำนวน 60 โรงเรียน ประกอบด้วยผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 60 คน และครูหัวหน้างานวิชาการ จำนวน 60 คน รวมทั้งสิ้น 120 คน คัดเลือกแบบเจาะจง
การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้สถิติบรรยาย ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติอ้างอิง ได้แก่ การทดสอบค่าที (t-test) ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป
สรุปผลการวิจัย
1. สร้างชุดฝึกอบรม IQA เพื่อพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา จำนวน 1 เล่ม ประกอบด้วยหน่วยการจัดการเรียนรู้จำนวน 6 หน่วย ได้แก่ หน่วยที่ 1 หลักเกณฑ์ และวิธีการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา พ.ศ. 2553 หน่วยที่ 2 มาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา หน่วยที่ 3 แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา หน่วยที่ 4 แผนปฏิบัติการประจำปี หน่วยที่ 5 การประเมินคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาแนวใหม่ แลการประเมินระบบประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา หน่วยที่ 6 การจัดทำรายงานประจำปีของสถานศึกษา (SAR) มีผลการประเมินความเหมาะสมของชุดฝึกอบรม IQA โดยผู้เชี่ยวชาญ อยู่ในระดับมากที่สุด ( x̄ = 4.73, S.D. = 0.52) และมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือ คะแนน 3.50 ขึ้นไป
2. ความรู้ของผู้เข้ารับการอบรมโดยใช้ชุดฝึกอบรม IQA เพื่อพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา สังกัดสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 2 แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 โดยค่าเฉลี่ยคะแนนความรู้เนื้อหาในการอบรมหลังศึกษา ชุดฝึกอบรม IQA เพื่อพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา (x̄ = 26.22, S.D.=1.30) สูงกว่า ก่อนศึกษาด้วยชุดฝึกอบรม IQA เพื่อพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา ( x̄= 23.53, S.D.=1.87)
3. ความพึงพอใจของผู้เข้ารับการอบรมโดยใช้ชุดฝึกอบรม IQA เพื่อพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา สังกัดสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 2 ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( x̄= 3.75,S.D.=0.50) เมื่อพิจารณารายข้อพบว่ากิจกรรมการฝึกอบรมส่งเสริมให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกคนมีส่วนร่วม อย่างทั่วถึง มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด ( x̄= 3.90,S.D.=0.48) รองลงมาคือเครื่องมือและวิธีการวัด มีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการประเมิน (x̄ = 3.87,
S.D.=0.35) และความพึงพอใจต่อการประสานงานและการให้บริการของคณะกรรมการดำเนินงาน มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด ( x̄= 3.60,S.D.=0.50)
4. ผลการประเมินระบบการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา สังกัดสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 2 โดยภาพรวมมีคะแนนเฉลี่ยผลการประเมินระบบ การประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาหลังการใช้ชุดฝึกอบรม (x̄ = 3.73,S.D.=0.55) สูงกว่า ก่อนการใช้ชุดฝึกอบรม ( x̄= 3.36, S.D.=0.60) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05